ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาคุก 8 ปี ‘พ.ต.ท.บรรยิน’ ปลอมเอกสาร-สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน โอนหุ้น ‘เสี่ยชูวงษ์’ 263 ล้านเศษ ‘น้ำตาล อดีตพริตตี้คนสนิท-ป้อนข้าว อดีตโบรกเกอร์’ โดนด้วย คนละ 4 ปี หลักฐานชัดไม่มีเหตุผลที่จะโอนหุ้นให้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2563 ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการ และนางศิริรัตน์ แซ่ตั๊ง (ภรรยานายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล (น้ำตาล) อดีตพริตตี้คนสนิท พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ จำเลยที่ 1 น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล (ป้อนข้าว) เจ้าหน้าที่การตลาด (โบรกเกอร์) บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง จำเลยที่ 2 พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมช.พาณิชย์ จำเลยที่ 3 และ น.ส.ศรีธรา พรหมมา มารดา น.ส.อุรชา จำเลยที่ 4 ในคดีปลอมเอกสารการโอนหุ้นของนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าคดีโอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์ วงเงิน 263,050,000 บาท
โดยศาลพิพากษาจำคุก น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล (น้ำตาล) จำเลยที่ 1 กำหนด 4 ปี น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล (ป้อนข้าว) จำเลยที่ 2 กำหนด 4 ปี พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมช.พาณิชย์ จำเลยที่ 3 กระทงละ 4 ปี รวม 2 กระทงจำคุก 8 ปี และยกฟ้อง น.ส.ศรีธรา พรหมมา
ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของพนักงานอัยการโจทก์ที่ 1 และนางศิริรัตน์ แซ่ตั๊ง โจทก์ที่ 2 และจำเลยทั้งสี่แล้วเห็นว่า เอกสารใบคำขอถอน/โอนหลักทรัพย์ทั้งสองบริษัทที่โอนหุ้นไปให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายชูวงษ์มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความ ทั้งการโอนไม่ได้เป็นไปตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและบริษัทหลักทรัพย์ทั้งสองตามที่เจ้าหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเจ้าหน้าที่ของบริษัทอาร์เอชบี โอเอสเค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์เออีซี จำกัด (มหาชน) เบิกความ
ทั้งได้ความจากพยานบุคคล พยานเอกสาร และวัตถุพยานซึ่งเป็นบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเป็นพิเศษมากกว่านายชูวงษ์ไม่มีเหตุที่นายชูวงษ์จะโอนหุ้นจำนวนมากให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นมารดาของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่สามารถรับโอนหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนเองได้ เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ต้องให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นมารดาเป็นผู้รับโอนแทน
โทรศัพท์ที่ใช้ในการยืนยันการโอนหุ้นอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 3 เสียงพูดโทรศัพท์ที่ยืนยันการโอนหุ้นไม่ใช่เป็นเสียงของนายชูวงษ์ แต่พยานที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับนายชูวงษ์และจำเลยที่ 3 ยืนยันว่าเป็นเสียงจำเลยที่ 3 ก่อนและหลังการโอนหุ้นจากการตรวจสอบการใช้โทรศัพท์และภาพจากกล้องวงจรปิดในสถานที่ต่าง ๆ พบว่าจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 ได้พบปะและพูดคุยบ่อยรวมทั้งระหว่างที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ไปเบิกเงินจากที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ที่รับโอนมา
ทำให้เชื่อว่า ในการโอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 มารดาจำเลยที่ 2 นั้น นายชูวงษ์ไม่มีส่วนรู้เห็น แต่จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ร่วมกันปลอมใบคำขอถอน/โอนหลักทรัพย์และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายชูวงษ์แล้วโอนหุ้นของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) จำนวน 9,500,000 หุ้น มูลค่า 228,000,000 บาท รวมทั้งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 โอนหุ้นของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN)หลักทรัพย์ของบริษัทปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) รวมมูลค่า 35,050,000 บาทให้แก่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นมารดาของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 4
ศาลเห็นว่าในขณะที่จำเลยที่ 2 กับที่ 3 ร่วมกันปลอมคำขอถอน/โอนหลักทรัพย์และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายชูวงษ์นั้น จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เป็นคนดำเนินการโดยจำเลยที่ 2 แจ้งกับจำเลยที่ 4 ว่า คนรักของจำเลยที่ 2 เป็นคนดำเนินการโอนหุ้นให้พยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ไม่ได้มีส่วนร่วมในการปลอมใบคำขอถอน/โอนหลักทรัพย์และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายชูวงษ์ดังกล่าวตามฟ้อง แต่เข้ามาเกี่ยวข้องหลังจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ดำเนินการโอนหุ้นเข้ามาในบัญชีหลักทรัพย์ที่เปิดไว้ในชื่อจำเลยที่ 4 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันขายหุ้นที่รับโอนมาเข้าบัญชีของจำเลยที่ 4 แล้วจำเลยที่ 4 เป็นคนดำเนินการเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าว
ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยที่ 4 ว่า ร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องโดยโจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ว่า ร่วมกันลักทรัพย์และรับของโจรเงินที่ได้จากการขายหุ้นดังกล่าวด้วย แต่ศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าข้อหาดังกล่าวไม่มีมูลคดีถึงที่สุดไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนมีคำพิพากษาคดีดังกล่าว พ.ต.ท.บรรยิน กับพวก ถูกกล่าวหาว่า ลักพาตัวและกักขังหน่วงเหนี่ยวพี่ชายของผู้พิพากษาในคดีนี้ ดังนั้นเพื่อมิให้กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิพากษาคดี จึงมีการเรียกคืนสำนวนคดีหรือโอนสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาอื่นทำคำพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 33 วรรคหนึ่ง
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พ.ต.ท.บรรยิน จาก www.thairath.co.th
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/