เปิดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี กกต. ตั้งเป้าทำงานเชิงรุกในโลกออนไลน์ เฝ้าระวังข่าวปลอมที่เป็นภัยต่อการเลือกตั้ง-จัดหน่วยมอนิเตอร์สื่อโซเชียลนักการเมือง-รณรงค์ลดการสร้างความเกลียดชังบนโลกอินเทอร์เน็ต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2563 สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่แผนยุทธศาสตร์สำนักงาน กกต. 20 ปี (2561-2580) โดยมีประเด็นน่าสนใจ ได้แก่ การกำหนดวิสัยทัศน์ระยะปานกลาง (5 ปี) 2561-2565 เช่น สำนักงาน กกต. เป็นที่ยอมรับของประเทศ ในกระบวนการเลือกตั้ง อย่างมืออาชีพ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ส่วนกำหนดวิสัยทัศน์ระยะยาว (20 ปี) 2561-2580 คือ สำนักงาน กกต. เป็นที่ยอมรับระดับสากล ในกระบวนการเลือกตั้งอย่างมืออาชีพ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเป็นกระบวนการเลือกตั้งที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นของตนอย่างสุภาพ ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยความเข้าใจ เห็นประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน ยอมรับและเห็นความเหมาะสม ในกระบวนการเลือกตั้ง ทั้ง กฎ กติกาการเลือกตั้ง วิธีการจัดการการเลือกตั้ง รวมทั้งระบบนิเวศของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้แก่ กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมทางการเมือง เป็นต้น และสามารถแก้ปัญหา อยู่ร่วมกันได้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง มีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์
ประเด็นยุทธศาสตร์มี 3 ส่วน คือ 1.เร่งรัดการบูรณาการ การบริหารการจัดการเลือกตั้ง และการบริการดิจิทัล คือสำนักงาน กกต. มีความสามารถในการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมในการบริหารงาน เปลี่ยนแปลงให้เท่าทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีการพัฒนาและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ได้การจัดการเลือกตั้งคุณภาพ โดยทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และสะดวก อาทิ การพัฒนาระบบ ICT เพื่อเปิดเผยข้อมูลคำวินิจฉัย เกี่ยวกับการเลือกตั้ง/การออกเสียงประชามติสำหรับประชาชน, พัฒนาระบบการแจ้งเหตุเบาะแสการกระทำผิด เกี่ยวกับการเลือกตั้ง/การออกสียงประชามติ ทางอิเล็กทรอนิกส์, โครงการคุ้มครองพยานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, โครงการเฝ้าระวังและตรวจจับการกระทำผิดด้าน การนำข้อมูลอันเป็นเท็จและ/หรือสร้างข่าวลวงที่เป็นภัยต่อกระบวนการเลือกตั้งในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น
2.เสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายประชาธิปไตย และส่งเสริมการพัฒนาพรรคการเมือง อาทิ เสริมสร้างศักยภาพของเครือข่ายภาคเอกชนและ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการ เลือกตั้ง, สนับสนุนเจตจำนงทางการเมืองของพรรคการเมือง และผู้สมัครจะไม่กระทำการซื้อสิทธิขายเสียง, รณรงค์ปลูกจิตสำนึกของประชาชนให้ ตระหนักถึงความสำคัญของพรรคการเมือง, เสริมสร้างเครือข่ายตรวจสอบจริยธรรมทางการเมืองของนักการเมือง, ให้มีหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการดูแลทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค เวปเพจ และทำหน้าที่ในการ มอนิเตอร์พรรคการเมืองและนักการเมืองที่ใช้ โซเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วย, โครงการรณรงค์ใช้โซเชียลมีเดียในทางการเมืองอย่าง สร้างสรรค์ ให้ประชาชนมีความรู้ ความ เข้าใจและใช้โซเชียลมีเดียแลกเปลี่ยนเรื่องทางการเมือง อย่างสร้างสรรค์ รู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ลดการใช้วาจารุนแรง ไม่มุ่งโจมตีกันที่นำไปสู่ความโกรธแค้น เกลียดชัง จนกลายเป็นจุดอ่อนของโซเชียลมีเดีย ต่อการพัฒนาการเมือง เป็นต้น
3. สร้างเสริมความรู้ พลังศรัทธา และพลังร่วมวิถีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อาทิ ส่งเสริมการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนด้านพลเมืองศึกษา ในระบบการศึกษาทุกระดับชั้น, กิจกรรมจัดตั้งช่องยูทูป Thailand good election, การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิถีประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปสู่การ ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง คือ ประเด็นการปฏิรูปที่ 1. การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับการเสริมสร้างประชาธิปไตย แบบปรึกษาหารือและการเคารพเสียงข้างน้อย, ประเด็นการปฏิรูปที่ 3. การกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่น และการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม โดยให้มีการกระจายอำนาจและการพัฒนานักการเมืองท้องถิ่น, ประเด็นการปฏิรูปที่ 4. การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติตามกฎหมาย เลือกตั้งอย่างเคร่งครัด และทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรม รวมทั้งให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งและเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง, ประเด็นการปฏิรูปที่ 5. การสร้างรัฐธรรมาธิปไตย โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความรับผิดชอบ มีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ ศรัทธา และยอมรับของประชาชน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/