ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 10 ปี ‘ร.ต.อ.เฉลิม นพเก้า’ อดีตอัยการพิเศษประจำกรม สำนักงานอัยการเขต 3 เรียกรับทรัพย์สินจากผู้ต้องหาคดียาเสพติด ข่มขู่ดำเนินคดีหนักขึ้นถ้าไม่ทำตามข้อเรียกร้อง ถูกไล่ออก-เรียกคืนเครื่องราชฯไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษายืนตามศาลจังหวัดสุรินทร์ (ศาลชั้นต้น) คดีที่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ร.ต.อ.เฉลิม นพเก้า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรม สำนักงานอัยการ เขต 3 รักษาราชการในตำแหน่งอัยการจังหวัดสุรินทร์ เป็นจำเลย กรณีกล่าวหาว่า ร.ต.อ.เฉลิม นพเก้า เรียกรับทรัพย์สินจากผู้ต้องหาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีให้ได้รับโทษหนักขึ้น หากไม่ยินยอมตามที่เรียกร้อง
คดีนี้เมื่อปี 2561 ศาลจังหวัดสุรินทร์ พิพากษาจำคุก ร.ต.อ.เฉลิม นพเก้า จำนวน 10 ปี เนื่องจากกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 201 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 201 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุดตามมาตรา 90 ต่อมาเมื่อปลายปี 2562 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 201 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อประมาณปลายปี 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) งมติชี้มูลความผิด ร.ต.อ. เฉลิม นพเก้า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง อัยการพิเศษประจำกรม สำนักงานอัยการ เขต 3 รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดสุรินทร์ คดีกล่าวหาเรียกรับทรัพย์สินจากผู้ต้องหาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและข่มขู่ว่าจะดำเนินคดี ให้ได้รับโทษหนักขึ้น หากไม่ยินยอมตามที่เรียกร้อง
ผลการพิจารณา ป.ป.ช.ระบุว่า ร.ต.อ. เฉลิม นพเก้า มีมูลความผิด ทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2521 มาตรา 44 มาตรา 47 และมาตรา 60 (1), (8) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความ - สงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 49 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 ข้อ 7 นอกจากนี้ ยังมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 201 และให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยัง อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2542 มาตรา 97
สำหรับการดำเนินการทางวินัย เนื่องจากประธานคณะกรรมการอัยการ ได้มีคำสั่งที่ 1/2552 ลงวันที่ 24 เมษายน 2552 ลงโทษไล่ ร.ต.อ.เฉลิม นพเก้า ออกจากราชการ ในการกระทำ ความผิดนี้ เหมาะสมแก่กรณีแล้ว จึงไม่มีเหตุต้องส่งเรื่องไปยังประธานคณะกรรมการอัยการ เพื่อพิจารณา ดำเนินการทางวินัย ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 วรรคสอง อีก ให้มีหนังสือ แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ผู้บังคับบัญชา ทราบ
ก่อนหน้านี้ ในช่วงกลางปี 2552 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง ให้ข้าราชการอัยการพ้นจากตำแหน่งและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ ร.ต.อ.เฉลิม นพเก้า พ้นจากตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรม สำนักงานอัยการเขต 3 เนื่องจากถูกลงโทษไล่ออกจากราชการตามมาตรา 36(7)แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 เพราะเหตุกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่บุคคลดังกล่าวได้รับพระราชทานในชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์ช้างเผือก ตริตาภรณ์มงกุฎไทย เบญจมาภรณ์ช้างเผือก เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญจักรพรรดิมาลา
อ่านประกอบ : ฟันอาญาซ้ำ"อดีตอัยการ"ขู่กรรโชกทรัพย์ผู้ต้องหา หลังถูกไล่ออก-เรียกคืนเครื่องราชฯ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/