‘ดีเอสไอ’ เดินหน้าสืบสวนขั้นต้น กรณี ก.ล.ต. กล่าวโทษ ‘EARTH-3 กรรมการ’ ปกปิดและแจ้งข้อมูลเหมืองถ่านหินอินโดนีเซีย ทำให้นักลงทุนเข้าใจผิด คาดใช้เวลาไม่นาน ก่อนพิจารณารับเป็นคดีไว้สอบสวนหรือไม่
หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) (EARTH) และกรรมการ 3 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณี EARTH เผยแพร่ข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย และฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา 58 (1) ไม่นำส่งเอกสารหรือรายงาน ปกปิดข้อความจริง และเผยแพร่ข้อความอันทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิดในสาระสำคัญของบริษัท
ล่าสุด พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงความคืบหน้าคดีดังกล่าว ว่า ขณะนี้ได้มีการส่งเรื่องไปกับกองคดีการเงินแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งกองคดีการเงินจะดำเนินการสืบสวนเบื้องต้นก่อนว่าเข้าลักษณะคดีที่ดีเอสไอมีอำนาจหรือไม่ เพราะแม้ว่า ก.ล.ต.จะพิจารณาว่ามีความผิดทางคดีอาญา แต่ก็ต้องพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขกฎหมายดีเอสไอว่าจะรับคดีไว้สอบสวนหรือไม่
“ตอนนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนขั้นต้น ซึ่งตามปกติจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน แต่เนื่องจากกระบวนการสืบสวนของก.ล.ต.ได้มีการรวบรวมหลักฐานขั้นต้นไว้อยู่แล้ว จึงไม่น่าใช้เวลาไม่นาน และหากพบว่าเข้าข่ายว่าเป็นความผิดในคดีพิเศษแล้ว ก็จะรับไว้ดำเนินการสอบสวน จากนั้นจะมีการสอบปากคำทาง ก.ล.ต. ยืนยันคำกล่าวโทษ และ รวบรวมหลักฐานว่ามีมูลหรือไม่ ถ้ามีมูลจึงจะแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่ถูกกล่าวหาต่อไป” พ.ต.ต.วรณันกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2562 ก.ล.ต. กล่าวโทษ EARTH และกรรมการ 3 ราย ได้แก่ (1) นายสาวิน จินดากุล (2) นางสาวภารดี เตียววณิชกุล และ (3) นายนพดล ชัยดรุณ ต่อดีเอสไอ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป กรณีที่ EARTH ฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา 58 (1) เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 274 และมาตรา 281/10 ประกอบมาตรา 58 (1)
และกรณี EARTH เผยแพร่ข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเหมืองถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเซีย เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 240 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ พร้อมทั้งกล่าวโทษกรรมการ 3 รายข้างต้นที่ต้องรับผิดชอบในการกระทำความผิดของ EARTH ตามมาตรา 300 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับเดียวกันด้วย
สำหรับการกล่าวโทษผู้กระทำผิดทั้ง 4 รายดังกล่าว สืบเนื่องจากที่ ก.ล.ต. อาศัยอำนาจตามมาตรา 58 (1) แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ สั่งให้ EARTH ชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความมีอยู่จริงของสิทธิในเหมืองถ่านหิน และทบทวนมูลค่ายุติธรรมของสิทธิในเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย 2 แห่ง ขณะที่การที่ EARTH ได้มาซึ่งสิทธิในเหมืองดังกล่าวจากการนำสินทรัพย์ของกลุ่มบริษัทที่มีมูลค่ารวมกันประมาณ 24,000 ล้านบาทไปแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม EARTH ไม่นำส่งเอกสารหรือรายงานตามที่ ก.ล.ต. สั่งการ ซึ่งนอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญต่อผู้ลงทุนด้วย
ต่อมาวันที่ 7 ก.พ.2562 EARTH เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุถึงมูลค่าของสิทธิในเหมืองถ่านหิน 2 แห่ง ซึ่งมีมูลค่า 25,100 ล้านบาท และประมาณ 29,000 ล้านบาท ตามรายงานประเมินของบริษัทผู้ประเมิน 2 ราย ที่ EARTH อ้างว่าได้ว่าจ้างเอง แต่จากการตรวจสอบรายงานประเมิน พบว่า EARTH นำปริมาณถ่านหินที่ไม่สามารถขุดขึ้นมาขายได้และไม่มีสิทธิเนื่องจากเกินกว่าอายุสัมปทานที่ได้รับ มารวมคำนวณเป็นมูลค่ารวมของสิทธิในเหมืองถ่านหินของบริษัท
นอกจากนี้ ยังระบุว่า EARTH จะเริ่มขุดถ่านหินได้ในปี 2019 (พ.ศ. 2562) และปี 2020 (พ.ศ. 2563) ตามลำดับ ทั้งที่ในวันที่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว EARTH ยังมีปัญหาสภาพคล่อง และยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า EARTH จะสามารถจัดหาเงินทุนมาใช้เพื่อจะเริ่มขุดถ่านหินได้ในปีดังกล่าว การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการเผยแพร่ข้อความอันก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญ
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/