ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง อดีตผู้สมัคร ส.ส.รปช. ขอให้สั่ง 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านยุติการรณรงค์แก้ไข รธน.ปี 60 ชี้เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงกระทำการล้มล้างการปกครอง
จากกรณีนายสนธิญา สวัสดี อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยสั่งยุติการดำเนินการเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ในทุกประเด็นของกลุ่ม 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนผู้ลงคะแนนเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้กว่า 16 ล้านคน และกระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) แล้ว แต่เมื่อครบ 15 วัน กลับไม่ได้รับคำตอบจากอัยการ (อ้างอิงข้อมูลจาก แนวหน้าออนไลน์)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องของนายสนธิญาดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นกรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค กระทำการรณรงค์ ประชุม และเสวนาเพื่อจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และเป็นข้อเท็จจริงที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค ได้ดำเนินการหรือยุติไปแล้วก่อนที่ผู้ร้องจะได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ส่วนการกระทำของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค จะเป็นความผิดตามบทกฎหมายใดนั้น เป็นเรื่องซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมต่อไป กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (3) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยได้
ทั้งนี้คำร้องของนายสนธิญา สวัสดี กล่าวอ้างว่า ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 2562-4 ต.ค. 2562 พรรคการเมืองฝ่ายค้านจำนวน 7 พรรค ได้ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการรณรงค์ ประชุม และเสวนาต่อเนื่องเพื่อจะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2562 และวันที่ 15 ก.ย. 2562 น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ วิพากษ์วิจารณ์บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วยถ้อยคำรุนแรง และเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2562 ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ได้กล่าวในงานเสวนาที่จัดโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 การกระทำดังกล่าวจึงกระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/