บ.เนชั่นแนลดิจิทัลไอดีฯ แจง 'อิศรา' ปมข้อกังวลกรณี กม.ธุรกรรมฯ เปิดทางให้เข้าถึงข้อมูล ปชช. ได้ ยันทำหน้าที่แค่ตัวกลางเหมือนถนนเชื่อมต่อระหว่างบัญชีธนาคารกับบริษัทเท่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงดูข้อมูลเจ้าของบัญชีได้ ส่วนประเด็นเรียกเก็บค่าหัวคิวรายละ 300 บาท เป็นแค่ค่าใช้จ่ายรับรองตัวตนตามข้อตกลงร่วมสถาบันการเงินเท่านั้น
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับที่ 4 ในช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าอาจจะมีการกำหนดให้มีการผูกขาดสัมปทานธุรกิจการพิสูจน์ยืนยันตัวตนทางดิจิทัล โดยพ.สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ (TISA) แสดงความกังวลว่า หลังจากที่ พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีผลบังคับใช้แล้ว มีบริษัทชื่อว่า บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำธุรกรรมออนไลน์ของคนไทยในยุคดิจิทัล การติดต่อกับหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ต้องให้บริษัท NDID มารับรองตัวตน โดยมีค่าหัวคิว รายการละไม่เกิน 300 บาท อาทิเช่น การเปิดบัญชีธนาคาร การซื้อประกันออนไลน์ การยื่นภาษีบุคคลและนิติบุคคล การต่อทะเบียนรถ การโอนรถยนต์ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเพราะจะทำให้บริษัทเอกชนมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลทางธุรกรรมทางการเงินของคนไทยได้ (อ่านประกอบ:ไขปม บ.เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี กับข้อกังวล TISA กรณี กม.ธุรกรรมฯ ให้เอกชนเข้าถึงข้อมูล ปชช.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่บริษัท NDID เพื่อชี้แจงข้อร้องเรียนดังกล่าว โดยในประเด็นเรื่องที่บริษัทฯ เก็บเงินจำนวนไม่เกิน 300 บาท เป็นค่าหัวคิวรับรองตัวตนนั้น เจ้าหน้าที่บริษัทฯ ชี้แจงว่า เป็นข้อตกลงในเรื่องค่าใช้จ่ายกับทางสมาชิกซึ่งเป็นกลุ่มธนาคารเอาไว้แล้ว ไม่ใช่ว่ามีการเก็บเงินเป็นจำนวน 300 บาทตามที่ว่าแต่อย่างใด
" ค่าใช้จ่ายที่ว่านี้จะเกิดขึ้นในกรณีที่มีการขอยืนยันตัวตนเท่านั้น ส่วนกรณีที่ทางธนาคารได้เก็บเงินค่าธรรมเนียมจากลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางออนไลน์ขอเรียนว่าทาง NDID ไม่ได้มีส่วนได้เงินตรงนี้แต่อย่างใด" เจ้าหน้าที่บริษัท NDID ระบุ
เจ้าหน้าที่บริษัท NDID ชี้แจงต่อว่า สำหรับข้อกังวลว่าทางบริษัทฯ นั้นสามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินของผู้ใช้บริการธนาคารได้นั้น ต้องขอเรียนว่าทางบริษัทไม่ได้เข้าถึงธุรกรรมของผู้ใช้บริการทุกคน บทบาทของบริษัท NDID นั้นทำหน้าที่เป็นแค่ถนนเชื่อมต่อกันระหว่างบัญชีธนาคารของบริษัทที่ลูกค้าได้ทำงานกับทางธนาคารเท่านั้น
“สมมติว่าทางบริษัท S ที่ลูกค้าทำงานจะขอข้อมูลยืนยันตัวตนจากธนาคารแห่งหนึ่ง เขาก็ทำผ่านทาง NDID ได้ โดยทาง NDID มีหน้าที่เป็นแค่ตัวกลางเท่านั้น NDID ไม่ได้เข้าไปแตะต้องทางธุรกรรมต่างๆของลูกค้าแต่อย่างใด ถ้าหากบริษัทที่คุณไปเปิดบัญชีด้วยนั้นเขามีการใช้บริการในส่วนของการเรียกข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตนของคุณ หรือว่ามีการขอข้อมูลของคุณจากทางหน่วยงานอื่นๆ ตรงนั้นทางบริษัทที่คุณไปเปิดบัญชีด้วยจะต้องเสียเงินให้กับบริษัทที่ขอข้อมูลและทางบริษัทที่ให้ข้อมูล และทางบริษัทและหน่วยงานที่ยืนยันตัวตน โดยจะมีการเสียค่าธรรมเนียมเป็นแสตมป์ให้กับ NDID บ้างเท่านั้น”เจ้าหน้าที่
เจ้าหน้าที่บริษัท NDID ยังกล่าวต่อว่า “สรุปก็คือในกระบวนการที่ทางลูกค้าได้เปิดบัญชีกับทางบริษัทที่ทำงานนั้น ทาง NDID จะเป็นเสมือนทางผ่านที่เป็นเครื่องมือยืนยันได้ว่ามันมีการส่งข้อมูลออกไปจริงๆ แล้วข้อมูลที่ให้ไปนั้นเป็นข้อมูลจริง ยกตัวอย่างเช่นว่า บัญชีธนาคารก็เป็นเสมือนบ้านหลังหนึ่ง ส่วนทางบริษัทก็เปรียบบ้านอีกหลังหนึ่ง บริษัท NDID ก็เป็นเสมือนถนนที่เชื่อมระหว่างบ้านสองหลังนั้นและยืนยันตัวตนผู้ใช้ถนนที่ว่านั้นว่าเป็นใคร แต่ทาง NDID จะไม่สามารถเข้าไปดูได้ว่าเจ้าของบ้านเข้าไปทำอะไรในบ้านแต่ละหลัง และไม่สามารถรู้ได้ด้วยว่าเจ้าของบ้านใช้อะไรเป็นรหัสล็อกบ้าน”
เมื่อสำนักข่าวอิศราถามว่า ความจำเป็นที่ต้องให้มีบริษัท NDID คืออะไร เพราะว่าทางหน่วยงานที่ขอข้อมูลน่าจะเชื่อมต่อโดยตรงกับทางธนาคารผู้ใช้บริการได้เลย ทำไมถึงต้องมีคนกลางมาอีก
เจ้าหน้าที่บริษัท NDID ชี้แจงว่าในปัจจุบันมีธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากมาย และสิ่งที่ตามมาก็คือการเปิดบัญชีออนไลน์กันเยอะมาก ซึ่งการที่มี NDID นั้นจะลดภาระทำให้ไม่ต้องไปหอบเอกสารไปเปิดบัญชีธนาคารกันที่สาขาธนาคาร แต่สามารถเปิดบัญชีทางออนไลน์กันได้เลย โดย NDID นั้นจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการขอข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตนในการเปิดบัญชีออนไลน์ที่ว่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสวมรอยเกิดขึ้น แต่ทาง NDID จะไม่มีทางรับรู้ได้เลยมีว่าข้อมูลอะไรที่ถูกส่งถึงกันบ้าง
"ส่วนประเด็นข้อกังวลต่างๆ ถ้าหากจะมีหน่วยงาน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาขอสอบถามข้อมูลเรื่องการทำหน้าที่ของบริษัท NDID ทางบริษัทก็พร้อมที่จะชี้แจง" เจ้าหน้าที่บริษัท NDID กล่าวทิ้งท้าย
อ่านประกอบ:
ไขปม บ.เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี กับข้อกังวล TISA กรณี กม.ธุรกรรมฯ ให้เอกชนเข้าถึงข้อมูล ปชช.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/