สภาไม่ล่ม-ฝ่ายค้านวอล์คเอาท์ครั้งที่ 3 องค์ประชุมสภาผู้แทนฯ 261 รายเกินกึ่งหนึ่ง ‘สุชาติ ตันเจริญ’ อนุญาตให้มีการลงมติใหม่ตามข้อบังคับ 85 ปมตั้ง กมธ.ศึกษา ม.44 อ้างประเพณีปฏิบัติเดิมทำมานานแล้ว เสียงข้างมาก 244 เสียงไม่เห็นด้วย ฝ่ายค้านร่วมแสดงตน 11 ราย - เพื่อไทยขู่ฟ้องศาล รธน.วินิจฉัย - ‘ไวพจน์’ โผล่ประชุมแต่ไม่ได้ลงมติ - ญัตติตั้ง กมธ.แก้ รธน. สัปดาห์หน้า
จากกรณีเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 ฝ่ายค้านนำเสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 โดยที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 236 236 ต่อ 231 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ทำให้ฝ่ายรัฐบาลขอนับคะแนนใหม่ ฝ่ายค้านจึงคัดค้าน และเดินออก (วอล์คเอาท์) จากห้องประชุมไป ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ จึงต้องปิดประชุมสภา ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2562 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาญัตตินี้อีกครั้งเพื่อนับคะแนนใหม่ แต่ฝ่ายค้านวอล์คเอาท์อีกเช่นกัน ทำให้องค์ประชุมไม่ครบอีกครั้ง ทำให้ต้องปิดประชุมสภาเป็นครั้งที่ 2 นั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเวลา 17.30 น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาวาระเรื่องด่วน ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 เป็นครั้งที่ 3
ทั้งนี้ เมื่อเวลาประมาณ 18.10 น. นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ตรวจสอบองค์ประชุม 261 ราย ถือว่าครบองค์ประชุมเพราะมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่ง (249 รายจากจำนวน 498 ราย) มี ส.ส. เป็นกรรมการตรวจนับคะแนน 6 ราย และให้มีการนับคะแนนญัตติดังกล่าวซึ่งเป็นการลงมติใหม่ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรฯ ข้อที่ 85 (2) โดยวิธีการขานชื่อ
ปรากฎว่า มีผู้เห็นด้วยกับญัตติตั้ง กมธ. 5 เสียง ไม่เห็นด้วย 244 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ทำให้ญัตติการตั้ง กมธ.ศึกษามาตรา 44 ของฝ่ายค้านถูกตีตกไป
หลังจากนั้นวาระการประชุมคือญัตติเสนอตั้ง กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ อย่างไรก็ดีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เห็นว่า ประชุมมาพอสมควรแล้ว เห็นควรนำเรื่องนี้ไปประชุมสัปดาห์หน้า นายสุชาติจึงได้ปิดการประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มี ส.ส.ของฝ่ายค้านแสดงตนร่วมด้วย จำนวน 11 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 3 คน ได้แก่ นายขจิต ชัยนิคม ส.ส. อุดรธานี น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคอนาคตใหม่ 3 คน ได้แก่ พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส. จันทบุรี นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี และ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 คน ได้แก่ นายภาสกร เงินเจริญกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ นายสุภดิช อากาศฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และพรรคประชาชาติ 1 คน ได้แก่ นายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี
สำหรับผู้งดออกเสียง เช่น 3 ประธาน-รองประธานสภาฯที่ต้องงดออกเสียงตามมารยาท ได้แก่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 นายศุภชัย โพธิสุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 นอกจากนี้ยังมีนายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ และนายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี พรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น
ส่วนผู้เห็นด้วย เช่น นายสาทิตย์ วงษ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงษ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี พรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น
ส่วน ส.ส. ที่ไม่ได้อยู่ร่วมลงมติ เช่น นายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีฝ่ายค้านจำนวนมากได้วอล์คเอาท์ออกจากที่ประชุม โดยเห็นว่า ควรมีการนับคะแนนใหม่ มิใช่การลงมติใหม่ ทั้งนี้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า หากมีการลงมติใหม่ จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป ทั้งนี้นายสุชาติ ระบุว่า ตนเป็น ส.ส. มาประมาณ 10 สมัย และข้อบังคับดังกล่าวเขียนแบบเดิมมาโดยตลอด ทั้งนี้การวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎร กรณีนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาอย่างยาวนานของสภา
ทั้งนี้ในการประชุมปรากฏ พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกศาลฎีกาออกหมายจับคดีล้มประชุมอาเซียนปี 2552 มาร่วมการประชุมด้วย แต่มิได้ลงมติแต่อย่างใด ทั้งนี้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันว่า เอกสิทธิ์คุ้มครองสมัยประชุม ส.ส. ไม่ครอบคลุม พ.ต.ท.ไวพจน์ แล้ว เนื่องจากคดีถึงที่สุด เช่นเดียวกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ว่า ตำรวจสามารถจับกุม พ.ต.ท.ไวพจน์ได้ทันที
ทั้งนี้ก่อนหน้าการลงมติใหม่ มีการถกเถียงกันระหว่างฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน โดยนายนิโรจน์ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ขอให้นายสุชาติ ตันเจริญ ที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยให้ชัดเจนว่า ใช้ข้อบังคับใดในการนับองค์ประชุม โดยนายสุชาติ วินิจฉัยใช้ว่า ใช้ข้อบังคับ ข้อที่ 78 ประกอบกับข้อ 32
นายสุชาติ ระบุว่า ในการลงมติใหม่ดังกล่าว เนื่องจากนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ผู้ยื่นญัตติขอให้มีการนับคะแนนใหม่นั้น ไม่ได้มีการถอนญัตติ จึงต้องดำเนินการตามข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 85 โดยให้มีการขานชื่อลงคะแนนใหม่ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติมานานแล้ว และข้อบังคับดังกล่าวเขียนแบบเดิมมาตลอด สภาผู้แทนราษฎรในอดีตก็เคยใช้มาในลักษณะนี้
อย่างไรก็ดีแกนนำพรรคฝ่ายค้าน เช่น นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ หารือว่า ข้อปฏิบัติในอดีตไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป ทั้งนี้ขอให้มีนายสุชาติตีความให้ชัดเจน เนื่องจากในสัปดาห์ที่แล้ว นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยว่า ถ้ามีสมาชิกขอใช้สิทธินับคะแนนใหม่ มีคนรับรองไม่ต่ำกว่า 20 ราย สามารถทำได้ แต่ประเด็นที่ถกเถียงคือนับคะแนนใหม่นับการอย่างไร เพราะตามข้อบังคับ ข้อที่ 85 ระบุว่า การนับคะแนนเสียงใหม่ ให้เปลี่ยนเป็นวิธีลงคะแนนเป็นขานชื่อ ดังนั้นองค์ประชุมที่ต้องเอามานับคือต้องยอดเท่าเดิมคือ 467 ราย ไม่ใช่เอาคนใหม่มาเติม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/