ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ ‘สมคิด’ ชี้ทางรอด นำพาอาเซียนเป็นผู้นำ ชี้ RCEP ตอบโจทย์การค้าอนาคต เสียดาย ‘อินเดีย’ ไม่พร้อมลงนาม เข้าใจได้ ติดปัญหาการเมืองในประเทศ
วันที่ 6 พ.ย. 2562 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดงานสัมมนาประจำปี Thailand2020 #ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ ณ แกรนด์ฮอลล์ โรงแรมดิ แอทธินี แบงค็อก กรุงเทพฯ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาในหัวข้อ Thailand2020 #ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ ตอนหนึ่งระบุว่า เรามองโลกได้สองอย่าง มองในมุมบวก หรือมองในมุมลบ ชีวิตเราผ่านวิกฤตการณ์มามาก แต่ส่วนใหญ่โอกาสมักจะเกิดช่วงวิกฤต ถ้าเรามองทุกอย่างเลวร้ายไปหมด จะไม่เห็นอะไรเลย และจะลำบาก แต่ถ้าคอยดูว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนั้น อะไรที่เป็นลบและมีช่องให้โอกาสตรงไหนบ้าง เปิดให้เรา ความคิดต่าง ๆ จะเริ่มบอกเองว่า ควรจะทำอะไร สิ่งนั้นคือจุดสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่คนเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตรุนแรงมาก คือ วิกฤตการณ์ทั้งนั้น
วิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ตนเองต้องเข้ามาอยู่ในการเมือง จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปี ถ้าไม่มีวิกฤตต้มยำกุ้ง คงไม่ได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) เพราะสมัยนั้นวิกฤตรุนแรง ไม่มีใครอยากรับตำแหน่งดังกล่าว เช่นเดียวกับธุรกิจต้องคอยมองว่า อะไรกำลังจะเกิดขึ้น แน่นอนสิ่งที่เป็นลบ เราต้องพยายามดูแลตนเองให้เข้มแข็งไว้ ขณะเดียวกันต้องมองหาโอกาสและจะมีช่องทางเอง
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวยกตัวอย่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ( ASEAN Summit ) ที่ผ่านมา เพิ่งผ่านไปสด ๆ ร้อน ๆ ครั้งนี้เป็นที่น่ายินดีว่า ผ่านพ้นไปด้วยดี ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ ทำหน้าที่ได้ดี ต้องขอบคุณความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่ทำให้ประเทศไทยนั้นมีหน้ามีตา นายกรัฐมนตรีและผู้นำทั้งหลายจากทุกประเทศกล่าวชมประเทศไทย แต่สิ่งที่เราต้องดูจากการประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการจัดงานให้ดี แล้วฟังคำชม แต่ต้องดูว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ อาเซียนกำลังเป็นจุดที่ทุกคนจับจ้องอยู่ ทวีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในอดีตนั้น อาเซียนเป็นเพียงกลุ่มประเทศมารวมตัวกันเพื่อสร้างความผาสุก ความสงบ ร่วมพัฒนา แต่ในขณะนี้มากเกิดกว่านั้น เพราะอาเซียนกำลังเป็นหัวใจของเอเชีย ประชากรเกือบ 600 ล้านคน เป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญเกือบทุกประเภท มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ฉะนั้นโดยธรรมชาติอาเซียนย่อมเป็นที่น่าสนใจ
“อาเซียนกำลังกลายเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่ทุกกลุ่มประเทศพยายามมาเชื่อมต่อเข้าไปด้วยกัน ตรงนี้มีความสำคัญ เวลามาเชื่อมต่อ ไม่ใช่ประเทศใหญ่เป็นศูนย์กลางแล้ว แต่อาเซียนคือตัวศูนย์กลางเข้ามาเกาะเกี่ยว”
นายสมคิด ยังกล่าวยกตัวอย่าง การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ( Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ในช่วงองค์การการค้าโลกมีปัญหา โลกเริ่มเปลี่ยนแปลงไป การจับกลุ่มเพื่อให้เกิดการค้าเสรีมาทดแทนเริ่มเกิดขึ้น RCEP เนื่องจากมีการเกาะเกี่ยวอยู่แล้ว เกิดมีแนวความคิดว่า จะทำอย่างไรให้กลายเป็นเขตเสรีการค้าใหญ่ที่สุดของโลก เพราะประชากรมีเกือบ 3,000 ล้านคน จีดีพีประมาณ 21 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ คุมการค้าทั้งหมดกว่า 40% เป็นเรื่องของ RCEP ทั้งสิ้น
“ลองนึกดูว่าชาติเหล่านี้ ทั้งอินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และอาเซียน การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่อาเซียนพอสมควรทีเดียว เมื่อมาเกาะเกี่ยวยึดโยงกับอาเซียน โดยเราเป็นศูนย์กลาง ซึ่งผู้นำเข้ามาเกาะเกี่ยวพูดทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ถ้าเขตการค้าเสรีเกิดขึ้นมา จะเป็นตัวทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน นั่นคือ การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม”
รองนายกรัฐมนตรี ยังระบุต่อว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะมาอยู่ที่อาเซียน โอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะถ้าไม่มีการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น โอกาสการค้า การขาย การลงทุนน้อยลงแน่นอน เป็นที่ภาวนากันว่า ทำอย่างไรให้ RCEP ตกลงกันได้เสียที ซึ่งไม่ง่าย เพราะทางการเมือง พบว่า แต่ละประเทศมีจุดมุ่งหมายของตนเอง จีนผลักดันเต็มที่ เพราะรู้ว่าได้รับประโยชน์แน่นอน
มีปัญหาประเทศเดียว คือ อินเดีย ยังไม่ยินยอมกับแนวคิดในช่วงต้น เพราะมองว่า การค้าเสรีหมายถึงการเปิดตลาด ซึ่งการเมืองอินเดียอาจยังไม่พร้อมรับในสิ่งนี้ จึงพยายามขอร้องว่า คงไม่สามารถตกลงจุดนี้ได้ แต่เห็นชอบในหลักการ ยกเว้นหลักการย่อยต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ ในการประชุมที่ผ่านมา แม้ยังไม่มีการลงนาม แต่เป็นการตกลงระหว่าง 15 ประเทศ ขาดประเทศเดียว คือ อินเดีย ซึ่งรอไปลงนามที่ประเทศเวียดนาม ในปี 2563 หากประเทศอินเดียมีความพร้อมในเวลานั้น จะครบ 16 ประเทศ ถ้าไม่พร้อม คง 15 ประเทศ ฉะนั้นแนวโน้มที่เกิด RCEP มีความเป็นไปได้สูงมาก สิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นถ้านายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายสหรัฐฯ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งโลกต้องหาหลักยึดใหม่
หลักยึดนั้น คือ RCEP เพราะหากเกิดเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดขนาดนี้ อาเซียนอยู่ตรงกลาง ถือเป็นโอกาส
ดร.สมคิด กล่าวด้วยว่า การประกาศเรื่อง RCEP เป็นข่าวดีมาก สำหรับอนาคตข้างหน้า น่าเสียดายอินเดียยังไม่ยินยอมตกลงพร้อมใจในช่วงนี้ แต่เข้าใจได้ เพราะในประเทศนั้นมีปัญหาทางการเมืองพอสมควร .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/