สภาวิศวกรหวังรัฐดึง ‘วิศวกรไทย’ ร่วมทำงาน ‘เมกะโปรเจกต์’ 44 โครงการ 2 ล้านล้าน รับถ่ายทอดเทคโนโลยี เชื่อมั่นมีศักยภาพ เผยปรับระเบียบรับรองปริญญาบัตร เน้นองค์ความรู้แทนรายวิชา รับตลาดแรงงาน
วันที่ 30 ต.ค. 2562 สภาวิศวกร จัดงานเสวนา เรื่อง โครงการเมกะโปรเจกต์ภาครัฐ วิศวกรไทยได้หรือเสีย ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ
ดร.ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า ภาครัฐมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศในระยะเร่งด่วน 8 ปี (พ.ศ.2558-2565) จำนวน 44 โครงการ วงเงิน 1.947 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาด้านการขนส่งทางถนน ระบบราง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการด้านระบบราง เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง 993 กม. ในเส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย เส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น โครงการความร่วมมือด้านรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน 252 กม. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 3 เส้นทาง สายพัทยา-มาบตาพุด สายบางปะอิน -นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี โครงการลงทุนขนาดยักษ์รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การขยายสนามบินสุวรรณภูมิ อู่ตะเภา การลงทุนพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
ทำให้ต้องมีการยกระดับความสามารถของวิศวกรไทยที่ต้องทำงานร่วมกับโครงการลงทุนระหว่างประเทศ เพราะขณะนี้โครงการที่กำลังจะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศหลัก ๆ มาจากกระทรวงคมนาคม ในขณะที่มีวิศวกรไทยประมาณ 1.7 แสนคน ที่จะเข้ามาดูแล ยืนยันว่า มีความพร้อมทุกด้าน เพียงต้องการโอกาสเท่านั้น โดยเราจะเข้ามาในส่วนของการทำสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับโครงการ ทั้งนี้ แน่นอนว่า ยังจำเป็นต้องมีวิศวกรต่างประเทศเข้ามา แต่อาจต้องเปิดช่องให้วิศวกรไทยที่มีศักยภาพเพียงพอเข้ามาทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่อีกครั้งหนึ่งด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยี
“ปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยียังมีมาก เพราะยังไม่มีการหารืออย่างจริงจังว่า ภาครัฐจะให้โอกาสวิศวกรไทยเข้ามาทำงานส่วนไหน เวลาใด และต้องการอะไรบ้าง เพื่อจะได้ตอบสนอง ทั้งที่สภาวิศวกรมีความพร้อมส่งวิศวกรเข้าไปร่วมทำงาน เพียงแต่ต้องรู้ก่อนว่า ภาครัฐมีความต้องการบุคลากรอย่างไร”
เลขาธิการสภาวิศวกร ยังกล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการหารือกับสถาบันการศึกษาแล้ว เพื่อเตรียมการผลิตแรงงานให้ตรงตลาด ซึ่งมีการปรับหลักสูตรให้ตรงกับตลาดแรงงานปัจจุบัน โดยปรับระเบียบให้การรับรองหลักสูตรปริญญาแบบองค์ความรู้แทนรายวิชา โดยระบุว่า สาขาใดต้องการความรู้ส่วนไหนบ้าง และสถาบันการศึกษาออกแบบการศึกษาเอง ซึ่งขณะนี้การประกอบวิชาชีพวิศวกรควบคุมไม่มีการประกอบวิชาชีพแบบแท่งแล้ว แต่เป็นแบบสหวิชาชีพ ยกตัวอย่าง การรักษาโรคมะเร็ง ไม่ได้ใช้แพทย์รักษาในเรื่องรังสีบำบัด แต่ใช้วิศวกรด้านนิวเคลียร์ คอมพิวเตอร์ มาผสมผสานกัน เพื่อยิงตรงไปจุดมะเร็ง เป็นต้น .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/