ถกปมเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจ หลังครม.ประยุทธ์ 2 รับตำแหน่ง ‘บัณฑิต’ สังเคราะห์ 3 ช่องว่าง เทียบเอกชน แนะกรรมการต้องทำงานอิสระ เกิดกลไกตรวจสอบจากภายนอก สร้างวิธีคัดเลือกแบบเปิด ‘ดร.เดือนเด่น’ หวังไทยให้ความสำคัญเปิดเผยข้อมูล ไม่เห็นด้วยสัดส่วนเป็นคนไทยเท่านั้น
วันที่ 25 ก.ย. 2562 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดสัมมนาเรื่อง “มารยาทหรือจรรยาบรรณ ช่วยชาติได้มากกว่า กรณีเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจกับการเมือง” ภายหลังจะมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เข้ามาบริหารแทน โดยอ้างว่า เป็นมารยาทของบอร์ดเดิมต้องลาออก ณ ห้อง The Great Hall ชั้น 7 โรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า มารยาทและคุณธรรมเป็นสิ่งที่สูงส่งและทรงคุณค่า เหนือกว่ากฎหมายและอะไรทั้งสิ้น แต่ในสังคมที่ทุกคนยึดถือมารยาทและคุณธรรม กฎหมายคงไม่จำเป็น แต่พบว่า พฤติกรรมของคนมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะพฤติกรรมที่ไม่มีเรื่องมารยาทและคุณธรรม จึงจำเป็นต้องมีกฎหมาย
“ตอนเข้ามารับตำแหน่ง ผอ.สคร. รู้สึกแปลกใจ เพราะอดีตเป็นนักกฎหมายและกฎหมายมีความจำเป็น แต่ตอนที่เข้ามานั้น กฎหมายทีใช้กำกับรัฐวิสาหกิจไม่อยู่ในฐานะที่เป็นกฎหมาย แต่เป็นไปตามระเบียบ มติครม. ที่ใช้ในการบริหารหรือกำกับรัฐวิสาหกิจ” ผอ.สคร. กล่าว และว่าระเบียบเหล่านี้ไม่มีสถานะเท่ากับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือกฎหมาย เมื่อรัฐบาลคสช.เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ จึงออก คำสั่ง คสช. เป็นระเบียบ อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด สคร. ต้องการพ.ร.บ. บังคับใช้ ซึ่งปัจจุบัน คือ พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ เมื่อ 23 พ.ค. 2562
ขณะนี้นำสิ่งต่าง ๆ ที่เคยเป็นแนวปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นมติครม. หรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารกำกับดูแล มาออกเป็นกฎหมายลูก เนื่องจากกรอบของ พ.ร.บ. กำหนดไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกำกับดูแล แผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ รวมถึงการควบคุมกำกับส่วนอื่น และการประเมินผล ซึ่งในระหว่างออกกฎหมายลูก จะยังใช้ระเบียบเดิมที่ออกมาในสมัยรัฐบาลคสช. มาบังคับ เพราะบทเฉพาะกาลว่า ให้คงใช้อยู่
ผอ.สคร. กล่าวถึงการสรรหาคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ที่มีข่าวว่าจะให้บอร์ดลาออกนั้น เห็นว่า มีความเข้าใจได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่มีหลักเกณฑ์ที่มีความชัดเจน ว่าจะให้ใครมาเป็นบอร์ด แต่ปัจจุบันมีเกณฑ์เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งฝ่ายการเมืองอาจไม่เข้าใจในระยะแรก ทำให้ต้องนำเสนอหลักเกณฑ์เหล่านี้ให้ครม.รับทราบอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ขั้นตอนการสรรหาบอร์ดแบ่งเป็นขั้นตอนปัจจุบันและขั้นตอนตามกฎหมายลูกที่กำลังจะออกมา (ดูแผนผังประกอบ)
ด้าน ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล กล่าวถึงช่องว่างระหว่างบริษัทจดทะเบียนกับรัฐวิสาหกิจ ประการแรก คือ การคัดเลือกกรรมการเป็นตัวหลัก ซึ่งในภาคธุรกิจจะมีการคัดเลือกกรรมการแบบวิธีเปิด ผู้ถือหุ้นสามารถรับทราบล่วงหน้าได้ว่าใครเป็นกรรมการ แต่รัฐวิสาหกิจในขณะนี้ยังไม่ถึงวิธีนั้น เพียงแต่ใช้กระบวนการให้คนเข้ามาร่วมมากขึ้น โดยคณะกรรมการจากข้างนอก อย่างไรก็ตาม หากเลียนแบบวิธีการคัดเลือกแบบเปิดตามบริษัทจดทะเบียน เช่น ขณะนี้บอร์ดรัฐวิสาหกิจหนึ่งว่าง 3 ตำแหน่ง และมีการเปิดเผยรายชื่อที่ส่งเข้ามาสู่สาธารณะ หากประชาชนเห็นว่าไม่ดีพอ อาจมีวิธีการส่งข้อมูลผ่านไปให้ทราบได้
ประการที่สอง เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทเอกชน พบว่า กลไกตรวจสอบการทำงานของรัฐวิสาหกิจโดยองค์กรภายนอกมีน้อยมาก โดยบริษัทเอกชน มีหน่วยงานกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็น สถาบันนักลงทุนที่พอส่งเสียงได้ มีนักบัญชี ผู้ปฏิบัติการนักวิชาชีพ เป็นต้น พร้อมยกตัวอย่างมีข่าวการทุจริต ทุกคนจะเข้ามาตรวจสอบ แต่รัฐวิสาหกิจที่ไม่จดทะเบียนจะไม่ค่อยมีการตรวจสอบจากข้างนอก กรณีที่เกิดเรื่องขึ้นมา จะพิสูจน์และลงโทษเอง ทำให้เกิดช่องว่าง เรื่องต่าง ๆ ที่ควรนำมาดูจริงจัง กลับถูกทิ้งค้าง และนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรยอมรับในความผิดพลาดเหล่านี้ง่ายขึ้น
ประการที่สาม ความสามารถกรรมการที่ทำงานต้องอิสระ ดังเช่นกรณีของบริษัทเอกชน จะมีการระบุให้มีกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด เพื่อการทำหน้าที่ แต่ในรัฐวิสาหกิจ แม้จะมีโครงสร้างกรรมการสามคนจากเอกชนหรือจากที่อื่น แต่ต้องมีกระบวนการให้คณะกรรมการที่มาจากทุกประเภทสามารถทำงานได้อย่างอิสระมากขึ้นด้วย ฉะนั้นการสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจจึงต้องเน้นความเป็นอิสระในการทำหน้าที่
ขณะที่ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจในไทยว่า ถ้าบอร์ดมาด้วยการเมืองจะไปด้วยการเมือง ดังนั้น หากไม่ต้องการให้ไปด้วยการเมือง จะต้องไม่ให้มาด้วยการเมือง วิธีการจึงควรออกแบบการคัดเลือกให้เป็นระบบ ไม่ใช่คัดเลือกจากความอำเภอใจของใครคนหนึ่ง เพื่อการปรับเปลี่ยนจะเกิดขึ้นไม่ง่าย
“ปัญหาของไทยเกี่ยวกับกฎหมายการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ เราไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องความโปร่งใสของกระบวนการ ทั้งฉบับไม่ได้พูดเลยว่าจะต้องเปิดเผยอะไรให้ประชาชนรับทราบ” นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่า ข้อมูลที่จะต้องเปิดเผย เบื้องต้นง่าย ๆ คือ ผู้สมัครเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจเป็นใคร มีคุณสมบัติอะไร เพื่อจะเทียบกันได้ว่า ใครดีกว่าใคร ฉะนั้นต้องให้ความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลและกระบวนการในการคัดเลือกมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการศึกษาโครงสร้างรัฐวิสาหกิจในต่างประเทศ ดร.เดือนเด่น ระบุว่า โครงสร้างบอร์ดรัฐวิสาหกิจในต่างประเทศไม่มีข้าราชการเป็นกรรมการ ยกเว้นประเทศไทย ซึ่งแปลกมากที่สุดในโลก ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำหนดห้ามข้าราชการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ
พร้อมกันนี้ ยังเห็นว่า ประเทศไทยยังยึดติดให้บอร์ดรัฐวิสาหกิจต้องมีกรรมการที่เป็นคนไทยเท่านั้น ในขณะที่ต่างประเทศมีกรรมการเป็นชาวต่างประเทศได้ ภายใต้เงื่อนไขมีประสบการณ์ที่ได้รับการยอมรับ และเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กำหนดหลักเกณฑ์ให้เปิดเผยประวัติและประสบการณ์ของกรรมการรัฐวิสาหกิจด้วย
สุดท้าย นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า การคัดเลือกกรรมการเป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลและธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐวิสาหกิจเป็นองคาพยพที่ใหญ่มากของเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันมีทั้งหมด 56 แห่ง ทรัพย์สินรวมกัน 16 ล้านล้านบาท เท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product:GDP) ขณะที่เวียดนาม ซึ่งมีความก้าวไกลกว่าไทยมากนั้น มีรัฐวิสาหกิจมากกว่า 200 แห่ง หรือ 1 ใน 3 ของ GDP ขนาดเล็กกว่าไทย จึงมีแผนจะลดบทบาทลง เพื่อเพิ่มบทบาทของตลาด อย่างไรก็ตาม แม้รัฐวิสาหกิจไทยมีขนาดใหญ่ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ปีหนึ่งมีค่าใช้จ่ายปีละ 5 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณแผ่นดิน 3 ล้านล้านบาท ซึ่งหากเกิดการรั่วไหล ถามว่า จะรั่วไหลที่ไหนมากกว่ากัน ระหว่างงบประมาณแผ่นดินกับรัฐวิสาหกิจ .
เอกสารการแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ http://bit.ly/2mB6R82
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/