เครือข่ายนักวิชาการ-ภาคประชาสังคมเตรียมล่า 1 หมื่นชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ. พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับปชช. ชงตั้งสถาบันดูเเลเฉพาะ สังกัดสำนักนายกฯ ทำหน้าที่ 9 ด้าน จัดทำนโยบาย หนุนงานวิจัย รับจดแจ้ง ขึ้นทะเบียนตำรับยา ‘ศุภชัย ใจสมุทร’ หวั่นไม่ทันสมัยประชุมหน้า เหตุสภาฯ มีกระบวนการตรวจสอบเข้าชื่อล่าช้า
วันที่ 24 ส.ค. 2562 เครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคมด้านพืชยา กัญชา กระท่อม ได้แก่มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กพย.) และมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ จัดแถลงข่าว “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน” ซึ่งมีการเสนอให้จัดตั้งสถาบันพืชยา กัญชา และกระท่อมแห่งชาติ ภายใต้กำกับของรัฐ ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม Dipak C. Jain อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ. จะมีการเสนอให้จัดตั้งสถาบันพืชยา กัญชา และกระท่อมแห่งชาติ อยู่ในหมวดที่ 4 เป็นหน่วยงานใหม่ที่มีความอิสระ โดยการจัดการเกี่ยวกับกัญชา ต้องมีหน่วยงานเฉพาะขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันมีกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) รับผิดชอบ แต่ยังไม่มีอำนาจหน้าที่ชัดเจนและครบถ้วนเกี่ยวกับกัญชา
“สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสธ. ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญเกี่ยวข้องกับกัญชาและกระท่อม ซึ่งภารกิจของหน่วยงานดังกล่าว ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติผลิตภัณฑ์ยา เวชภัณฑ์ ในหลักการจึงต้องจัดตั้งสถาบันพืชยาฯ ขึ้นมา สอดคล้องกับการจัดตั้งหน่วยงานอื่น ๆ เช่น มีสถาบันวัคซีนแห่งชาติ หรือมี สธ. แล้ว ยังต้องมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพราะจะก่อให้เกิดผลมากกว่าเดิม” กก.บห.ศูนย์กฎหมายสุขภาพฯ คณะนิติศาสตร์ มธ. ระบุ
ด้าน ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. เปิดเผยว่า สถาบันพืชยา กัญชา และกระท่อมแห่งชาติ มีหน้าที่และอำนาจ 9 ประการ ได้แก่ 1.รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ 2.จัดทำนโยบายส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาพืชยา เพื่อเสนอแก่คณะกรรมการ 3.ประสานงานกับหน่วยงานด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนงานเกี่ยวกับพืชยา 4.ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชยา การใช้ประโยชน์จากพืชยาหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องและศึกษาผลกระทบด้านต่าง ๆ 5.รับจดแจ้งชุมชนพืชยาและพิจารณาอนุมัติธรรมนูญชุมชน
6.รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลการขออนุญาตเกี่ยวกับพืชยาและการขึ้นทะเบียนตำรับยา 7.เผยแพร่ข้อมูลผลการดำเนินงานของสถาบัน ความรู้เกี่ยวกับการปลูก การใช้พืชยาที่ถูกต้องแก่ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 8.มอบให้องค์กรอื่นหรือบุคคลอื่นทำกิจการที่อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของสถาบัน และ 9.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ขณะที่ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวถึงการขับเคลื่อนหลังจากนี้ว่า เครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคมจะเผยแพร่ร่าง พ.ร.บ. พืชยาฯ ฉบับประชาชน เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนร่วมเข้าชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายให้ครบ 10,000 รายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 133 (3) บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5หน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาเป็นกฎหมายต่อไป
นายศุภชัย ใจสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ปัจจุบันในฐานะนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) อะไรที่สามารถทำได้ในเชิงฝ่ายบริหาร รมว.สธ.พยายามทำเต็มที่ และทีมคณะทำงานได้พยายามผลักดัน รวมถึงมีความประสงค์จะเปลี่ยนทัศนคติหลายเรื่องในกระทรวงสาธารณสุขในมุมมองกัญชาที่แตกต่างกันออกไป
ทั้งนี้ เรื่องกฎหมาย พรรคภูมิใจไทยจะมีการยื่นเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม คาดว่า ในช่วงเวลาเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลัง พ.ย. จะยื่นสิ่งที่ทุกคนกำลังทำ ซึ่งทำคู่ขนานไปด้วย ถือเป็นเรื่องดี แต่ห่วงใยว่า เวลาจะไม่ทัน เพราะระยะเวลาตรวจสอบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนมีกระบวนการล่าช้ามาก .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/