ป.ป.ช. ชี้มูล ‘บิ๊ก’ จงใจปกปิดทรัพย์สิน หลัง ‘เครือญาติ’ ถูกสอบเส้นทางเงินทั้งใน-ต่างประเทศ พันคดี พีทีที.จีอี ลงทุนปลูกปาล์มอินโดฯ ไม่โปร่งใส-จ่ายค่านายหน้าแพงเกินจริง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งในสำนักงาน ป.ป.ช. กรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดทรัพย์สินและหนี้สินที่ควรแจ้งให้ทราบ
สำหรับการชี้มูลความผิดผู้บริหารระดับสูงรายนี้ สืบเนื่องจากองค์คณะไต่สวน (คณะกรรมการ ป.ป.ช. 9 ราย เป็นองค์คณะฯ) ไต่สวนในส่วนของเส้นทางการเงินและทรัพย์สินทั้งในประเทศ และต่างประเทศของผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องในคดีบริษัท พีทีที.จีอีฯ ในเครือ ปตท. ลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยพบว่าหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาเป็นเครือญาติกับผู้บริหารระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. และมีเส้นทางการเงินไหลเข้าเครือญาติของผู้บริหารระดับสูงรายนี้ด้วย
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 ส.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวติดต่อทางโทรศัพท์ถึงนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อจะขอสอบถามข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว แต่นายวรวิทย์ยังไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 158 บัญญัติว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับผู้อํานวยการกองขึ้นไป ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีตําแหน่งและหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยัง ไม่บรรลุนิติภาวะ รวมท้ังทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สิน
และหนี้สิน ในการตรวจสอบดังกล่าว เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและเป็นการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนดระเบียบมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นการเฉพาะก็ได้
ให้นําความในมาตรา 43 มาใช้บังคับกับการดําเนินคดีกับบุคคลตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม
ส่วนมาตรา 159 บัญญัติว่า เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและเป็นการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ร่ํารวยผิดปกติ กระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดําเนินการไต่สวนและวินิจฉัยเอง หรือจะแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนก็ได้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องพิจารณาและวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสํานวนการไต่สวน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีปลูกปาล์มน้ำมันอินโดนีเซีย เกิดจากกรณีเกิดขึ้นจากที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ หรือ พีทีที.จีอี ลงทุนโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย ต่อมามีการตรวจสอบพบว่า ทำไม่โปร่งใส และมีการจ่ายค่านายหน้าที่ดินแพงเกินจริง ขณะที่ผลสอบของผู้สอบบัญชีระดับโลก ระบุว่า มีผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. รู้เห็น และมีการโอนเงินเข้าบัญชีคนไทยจำนวนหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ
บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด (บริษัทลูกของ Deloitte Touche Tohmatsu ผู้สอบบัญชีระดับโลก) ตรวจสอบพบความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินโครงการนี้หลายประการ และนำเรื่องเรียนต่อผู้บริหารระดับสูงใน ปตท. ช่วงเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่าน
โดยเฉพาะประเด็น ‘ค่านายหน้า’ การซื้อขายที่ดินในโครงการ PT.Az Zhara (มี Mr.Agustiar เป็นเจ้าของ) และ PT.KPI (มี Mr.Burhan เป็นเจ้าของ) ที่ทำสัญญากับ KSL เอกชนที่ปรึกษาจดทะเบียนในประเทศโดมินิกัน และมี 2 คนไทยเกี่ยวข้องในการลงนาม โดยได้รับเงินอย่างน้อย 32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และพบเส้นทางการเงินที่ไหลไปยังคนไทยรายอื่น และเอกชนต่างประเทศ ผ่านธนาคารในฮ่องกง รวมถึงรายละเอียดเช็คบางส่วนที่แฟกซ์ถึงร้านค้าใจกลางเมือง กทม. อีกจำนวนหลายล้านเหรียญสหรัฐฯด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ : เปิดลำดับเหตุการณ์สำคัญคดีปลูกปาล์มอินโดฯก่อนกรณีค่านายหน้า32ล.ดอลลาร์