เปิดผลสอบ สตง. แกะรอยเส้นทางโกงเงินคนจนนิคมฯพัทลุง พบพิรุธจัดสรรงบปี 60 เพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ ยอดเงินพุ่ง 22.79 ล้าน ผู้รับการสงเคราะห์ 10,861 ราย จากปี 59 แค่ 2 ล้านเศษ 1,269 ราย ก่อนสาวลึกพบพฤติการณ์ จนท.ส่อทุจริตให้ลงลายมือชื่อเบิกเงินใบสำคัญไม่ระบุตัวเลข-อักษรล่วงหน้า สั่งชดใช้คืนก้อนแรกแล้ว 1.33 ล้าน ให้ตามไล่บี้ 153 ฎีกาเบิกจ่าย อีก 23.87 ล้าน
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวปัญหาความไม่โปร่งใสในการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและคนไร้ที่พึ่งในนิคมสร้างตนเองควนขนุน จังหวัดพัทลุง และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดพัทลุง ที่ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประจำปี 2560 จำนวนเงินกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า มีลักษณะการดำเนินการที่ส่อไปในทางทุจริต โดยเจ้าหน้าที่ให้ผู้ยื่นคำขอความช่วยเหลือลงลายมือชื่อในใบสำคัญรับเงินไม่ระบุจำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวอักษรล่วงหน้าเอาไว้ แต่เจ้าหน้าที่จะดำเนินการจ่ายเงินให้ในภายหลัง
ขณะที่ในขั้นตอนการจ่ายเงิน นั้น มีการเขียนเช็คเงินสดลงนามโดยเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่การเงิน เพื่อนำเงินสดไปจ่ายให้กับผู้มีสิทธิรับเงินแทน และเมื่อสตง.ไปตรวจสอบข้อมูลยืนยันจากผู้ที่ปรากฎชื่อได้รับความช่วยเหลือ พบว่าผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือส่วนใหญ่ได้รับเงินจริงในจำนวนที่น้อยกว่าจำนวนเงินที่ปรากฎในใบสำคัญรับเงินด้วย (อ่านประกอบ : โกงเงินคนจนลามนิคมฯพัทลุง! สตง.พบหลักฐานมัดให้ลงชื่อเบิกไม่กรอกตัวเลข-ได้น้อยกว่าที่จ่าย)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายงานการสอบสวนของ สตง. พบว่า จุดเริ่มต้นในการตรวจสอบกรณีมาจากที่ สตง.พบข้อสังเกตในรายงานการเงินทั่วไปของนิคมสร้างตนเองควนขนุน จังหวัดพัทลุง ณ วันที่ 30 ก.ย.2560 ที่ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ
โดยในช่วงปีงบประมาณ 2559 ได้รับงบประมาณและมีการบิกจ่ายเงิน จำนวน 2.40 ล้านบาท มีผู้รับการสงเคราะห์ จำนวน 1,269 ราย
แต่ในปึงบประมาณ 2560 ได้รับงบประมาณและมีการเบิกจ่ายเงิน จำนวน 22.79 ล้านบาท มีผู้รับการสงเคราะห์จำนวน 10,861 ราย
เท่ากับว่ามีงบประมาณเพิ่มขึ้นจำนวน 20,39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 848.75 และมีผู้รับการสงเคราะห์เพิ่มขึ้น จำนวน 9,592 ราย คิดเป็นร้อยละ 755.87 จากปีงบประมาณ 2559
ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลการยื่นคำขอผู้รับการสงเคราะห์ การสอบข้อเท็จจริง การวินิจฉัยและการอนุมัติให้ความช่วยเหลือ รวมไปถึงการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยและคนไร้ที่พึ่ง สตง.ได้สอบถามข้อมูลจากผู้ได้รับความช่วยเหลือ โดยเลือกพื้นที่ผู้ได้รับความช่วยเหลือ จำนวน 7 แห่ง จำนวน 282 ราย จากฎีกาเบิกจ่าย จำนวน 10 ฎีกา เป็นเงิน 2.80 ล้านบาท และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องจำนวน 14 ราย
ผลการสอบถามข้อมูลส่วนใหญ่ พบว่า นักสังคมสงเคราะห์ หรือ ผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบกรมพัฒนาและสวัสดิการว่าด้วยการสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2552 เนื่องจากไม่ได้สอบข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมตามสภาพปัญหา แต่ใช้วิธีการขอความร่วมมือให้บุคคลภายนอกในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกและรวบรวมรายชื่อและหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องพร้อมกับใบสำคัญรับเงินที่มีการลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอไว้ล่วงหน้า โดยไม่ได้ระบุจำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวอักษรประกอบการยื่นคำขอดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยและอนุมัติให้ความช่วยเหลือตามข้อมูลที่ปรากฏตามเอกสารคำขอที่บุคคลหรือหน่วยงานส่งมาให้เท่านั้น
เบื้องต้น สตง.พิจารณาแล้วเห็นว่า ขั้นตอนการดำเนินการ ตลอดถึงวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบปฏิบัติ ไม่เป็นไปตามแนวทางระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนด อาจส่งผลให้ผู้ที่ได้รับควมช่วยเหลือตามคำขอนั้น มิใช่ผู้ที่อยู่ในหลักเกณฑ์การช่วยเหลือตามระเบียบกรมพัฒนาและสวัสดิการฯ ตลอดทั้ง
ยังไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานอื่นใดประกอบคำขอที่สามารถเชื่อได้ว่าบุคคลที่ยื่นคำขอนั้นเป็นผู้มีคุณสมบัติตามระเบียบฯ
นอกจากนี้แล้วเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมีพฤติการณ์อาจส่อไปในทางทุจริต ในกรณีที่ให้ผู้ยื่นคำขอลงลายมือชื่อในใบสำคัญรับเงินโดยไม่ได้มีการระบุจำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวอักษรไว้ล่วงหน้า แต่เจ้าหน้าที่จะดำเนินการจ่ายเงินให้ในภายหลัง ซึ่งพบว่ามีการเขียนเช็คเงินสดลงนามเจ้าหน้าที่คนอื่นที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่การเงินด้วย เพื่อนำเงินสดไปจ่ายให้กับผู้มีสิทธิรับเงิน ซึ่งจากผลการสอบถามข้อมูลจากผู้ได้รับความช่วยเหลือพบว่าส่วนใหญ่ได้รับเงินจริงในจำนวนที่น้อยกว่าจำนวนเงินที่ปรากฏในใบสำคัญรับเงิน
สตง.จึงได้แจ้งผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะ ให้นิคมสร้างตนเองควนขนุน จังหวัดพัทลุง และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดพัทลุงชดใช้ค่าเสียหาย จำนวนทั้งสิ้น 1.33 ล้านบาท ส่วนที่ไม่ได้สอบถามอีกจำนวน 153 ฎีกาเบิกจ่าย จำนวนทั้งสิ้น 23.87 ล้านบาท ให้ตั้งกรรมการเพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าวิธีการและขั้นตอนการดำเนินการ ตลอดถึงวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีลักษณะเดียวกันกับที่ สตง.ตรวจสอบไปแล้ว ขอให้ดำเนินการ
เพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายด้วย รวมไปถึงการดำเนินการทางวินัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/