เวทีระดมถก ‘รู้ทันกัญชา’ นพ.นพพร ย้ำยังเป็นยาเสพติดให้โทษ พ้นนิรโทษกรรม 90 วัน ใช้ต้องพบแพทย์ขึ้นทะเบียน ‘อ.เดชา’ ประกาศ ก.ค. แจกตำรับยาจากสารสกัด ท้าให้จับกุม เตรียมเข้าพบ ‘อนุทิน’ พร้อมแอ๊ด คาราบาว ‘นพ.ธีระวัฒน์’ แนะผู้ป่วยรักษาควบคู่แผนปัจจุบัน
วันที่ 25 มิ.ย. 2562 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การสัชกรรม (อภ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมูลนิธิรักษ์ยาเพื่อประชาชน (รนช.) จัดงานประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นเรื่อง รู้ทันกัญชา : “คลายปมปัญหา – เดินหน้า” เพื่อประชาชน ณ ห้องประชุมสุวิทย์ศักดานนท์ ชั้น 5 โรงแรมทีเค พาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า กัญชายังถือเป็นพืชเสพติดในหลายประเทศทั่วโลก แต่หลายประเทศได้ผ่อนปรนกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาทางการแพทย์หรือเพื่อสันทนาการได้อย่างถูกต้อง สำหรับประเทศไทยกัญชายังถือเป็นสิ่งเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งผู้เสพหรือมีไว้ครอบครองต้องระวางโทษทั้งจำและปรับ ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 ระบุว่าสามารถนำกัญชาและกระท่อมไปใช้ทางการแพทย์และวิจัยได้ จึงทำให้ อย. ออกกฎหมายลูกมา เพื่อนิรโทษกรรมผู้ครอบครองกัญชาก่อนกฎหมายฉบับใหม่ประกาศใช้
ทั้งนี้ ภายหลังนิรโทษกรรม 90 วันแล้ว (21 ส.ค. 2562) จะใช้กัญชาต้องพบแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น การอนุญาตให้ครอบครองสำหรับเพื่อใช้ในการรักษาทางการแพทย์หรือการศึกษาวิจัย และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานรัฐบาล ผู้ที่ได้รับอนุญาตในการครอบครอง คือ หน่วยงานของรัฐบาลหรือสถาบันการศึกษาของรัฐ และบุคคลต่อไปนี้โดยต้องดำเนินการร่วมกับรัฐ ได้แก่ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน สหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชน และอื่น ๆ ตามกฎกระทรวง โดยวัตถุประสงค์เพื่อสกัดเป็นยารักษาโรค สกัดสารเพื่อใช้ในการศึกษาทดลอง และพัฒนาสายพันธุ์ แต่ต้องเป็น medical grade หรือคุณภาพทางการแพทย์เท่านั้น แม้ผู้ป่วยในไทยบางส่วนลักลอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคร้ายมาหลายปีแล้วก็ตาม
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผู้ที่ได้รับอนุญาตในการสั่งใช้กัญชาทางการแพทย์ต้องเป็นผู้ผ่านการอบรมกรรมแพทย์รุ่น 1-2 และผู้เข้าร่วมอบรมรุ่น 3 โดยแบ่งเป็นแพทย์ทางเลือกแผนไทย (แพทย์แผนไทย, แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน) จำนวน 2,934 คน มีตำรับยาไทยที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ได้รับอนุญาต 16 ตำหรับ และแพทย์แผนปัจจุบัน (แพทย์, เภสัชกร และทันตแพทย์) จำนวน 925 คน
“จากสถิติของกรมการแพทย์มีผู้ลงทะเบียนใช้กัญชาทางการแพทย์แล้ว 31,177 คน รักษาได้ผลดีใน 4 โรค ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ลมชักที่ดื้อยา กล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วย multiple sclerosis และภาวะปวดประสาท อีกทั้งอาจจะได้ประโยชน์ในการรักษาใน 5 โรค คือ พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ วิตกกังวล ผู้ป่วยระยะประคับประคอง และมะเร็งระยะสุดท้าย”
นพ.นพพร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมเริ่มปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายแห่งแรกของอาเซียนเพื่อใช้ผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ได้ผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา ล็อตแรก จำนวน 2,500 ขวด ใช้ทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่ร่วมโครงการวิจัย ประโยชน์ของสารสกัดจากกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์นั้น THC มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท แก้ปวด ต้านอาเจียน และลดการอักเสบ CBD ระงับอาการวิตกกังวลและมีฤทธิ์ต้านการชัก
ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กัญชา ณ วันนี้ คือยา การเลือกใช้กัญชาโดยทราบถึงประโยชน์วิธีใช้และข้อจำกัดเป็นการใช้กัญชาอย่างชาญฉลาด ก่อนใช้ต้องทราบว่ามีข้อจำกัดอะไร โดยเฉพาะถ้ามีอาการทางจิตในตนเอง (ราม จิตเภท และ bipolar ) หรือในครอบครัวจะใช้สารสกัดกัญชาชนิดที่ทำให้มีอาการเมาไม่ได้ ต้องใช้ชนิดเช่นที่สกัดจากกันชง มีอาการทางโรคตับที่เห็นได้ชัดหรือโรคไตหรือไม่ ห้ามในคนท้อง ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี (ยกเว้นมีภาวะของโรค) ต้องสำรวจว่ามีโรคอื่น ๆ นอกจากโรคที่ต้องการใช้กัญชาหรือไม่?
ทั้งนี้ เนื่องจากถ้ามีการใช้ยาปัจจุบันควบรวมอยู่สำหรับรักษาโรคนั้น ๆ ห้ามทิ้งการรักษาแผนปัจจุบัน กัญชาที่ให้อาจจะมีปฏิกิริยากับยาทำให้ยานั้นออกฤทธิ์มากขึ้น หรือน้อยลงหรือยานั้นทำให้กัญชาออกฤทธิ์มากขึ้น และเป็นสาเหตุที่ทำให้มีอาการข้างเคียงที่ไม่ได้มาจากกัญชาโดยตรง โดยจะเป็นจากฤทธิ์ของยาที่ใช้อยู่ที่เพิ่มมากขึ้นไปอีก
ขณะที่นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีคนมาลงทะเบียนเพื่อรับน้ำมันกัญชาไปรักษามากกว่า 50,000 ราย แต่ยังไม่สามารถแจกจ่ายได้ เนื่องจากถูกยึดไปตรวจสอบพิสูจน์ของกลาง เพราะผิดกฎหมาย ส่วนของกลางที่ทางการยึดมานั้นมีมูลค่ามากและสามารถช่วยผู้คนที่เจ็บป่วยได้มากด้วย ของกลางที่ยึดไป 1 ตันเพื่อเผาทำลายสามารถรักษาได้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ถึง 20,000 คน และมีราคาถูก
อย่างไรก็ตาม ขอท้าพิสูจน์การใช้กัญชารักษา และการใช้กัญชารักษานั้นจะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่รัฐจะต้องจ่ายค่าสวัสดิการสุขภาพของประชาชน อีกทั้งเผยข้อสงสัยว่ากัญชาไม่ถูกกฎหมายและถูกกดเป็นเวลา 20 กว่าปีไว้ อาจจะเป็นเพราะขัดผลประโยชน์กับคนบางกลุ่ม
ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวด้วยว่า เดือน ก.ค. จะแจกตำรับยาที่มีสารสกัดจากัญชาให้ไปจับกุม และท้าพิสูจน์ทดลองการรักษาโรคไมเกรน ซึมเศร้า กับเทคโนโลยีแพทย์แผนปัจจุบัน อีกทั้งจะเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมกับ แอ๊ด คาราบาว และยืนยันว่า ภูมิปัญญาไทยก้าวไกลกว่าเทคโนโลยีตะวันตก .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/