แสวง บุญมี คาดไม่เกิน 30 วันประกาศเลือกตั้ง นายกฯ-ส.อบจ.ได้ ถ้าเขตไหนมีปัญหาอาจยืดไป 45-60 วัน คาดหวังคนออกไปใช้สิทธิ์ 65% ชี้ไม่เสียหน้า เพราะบอกไปแล้วทำไมต้องเลือกตั้งวันเสาร์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ว่า การเลือกตั้งสมาชิกและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 2568 ทั่วประเทศ (ยกเว้น กทม.) จำนวน 90,715 หน่วยเลือกตั้งอยู่ระหว่างการนับคะแนน หลังปิดการลงคะแนนเมื่อเวลา 17.00 น. ที่ผ่านมา ซึ่งภาพรวมการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อาจจะมีเหตุการณ์ระหว่างวันบ้าง
เหตุการณ์แรกคือ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งฉีกบัตรเลือกตั้ง ซึ่งกกต.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยแจ้งความที่สถานีตำรวจแล้ว ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดี
เหตุการณ์ที่ 2 ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเดินทางไปถึงหน้าหน่วยแล้ว แต่ไม่มีชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง อาจจะเกิดจากกฎหมายที่มีความต่างจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เช่น การต้องมีที่อยู่ในทะเบียนบ้านท้องที่ การเลือกตั้ง สส. กำหนด 60 วันก่อนที่มีการเลือกตั้ง แต่เลือกตั้งท้องถิ่นต้องมีชื่อ 1 ปีขึ้นไป และการเลือกตั้งข้ามเขตที่ สส. สามารถทำได้ แต่เลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้ อาจจะเกิดการสับสนได้ โดย กกต. จะนำไปแก้ไขดูแลต่อไป เพื่อรักษาสิทธิ์ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็มีการจัดหน่วยเลือกตั้งที่ไม่ได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชน เป็นต้น ซึ่งมีการแก้ไขแล้ว จากนี้ไปจะเป็นขั้นตอนของการประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีประเด็นของจำนวนผู้สมัครและความสุจริตเที่ยงธรรม ประกอบด้วย
@ประกาศผลเร็วสุด 1 เดือน ช้าสุด 60 วัน
เลขาธิการกกต.กล่าวต่อไปว่า กกต. จะตรวจสอบเบื้องต้นว่า ถ้าปรากฎว่าหน่วยเลือกตั้งใดที่สุจริตเที่ยงธรรม กกต.ประกาศผลภายใน 30 วัน แต่ถ้ามีหน่วยเลือกตั้งที่มีประเด็น ก็ต้องมีการตรวจสอบอีก 60 วัน และสุดท้ายจะต้องมีการประกาศผลภายใน 60 วัน ส่วนจำนวนผู้สมัครมีผลต่อการประกาศผลเหมือนกัน ถ้ามีจำนวนผู้สมัครมากกว่าจำนวนสมาชิก ก็จะดํลำดับคะแนน แต่ต้องมีจำนวนคะแนนมากกว่าจำนวนผู้ที่ไม่ลงคะแนนเสียง (Vote No) ด้วย ถ้าหากคะแนนน้อยกว่า Vote No ก็ต้องเลือกตั้งใหม่
ส่วนกรณีที่บางจังหวัดมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) เท่ากับจำนวนผู้สมัคร ซึ่งมี 2 เงื่อนไขคือ ต้องได้มากกว่า 10% ของจำนวนผู้มรสิทธิ์เลือกตั้งในเขตนั้น และต้องได้มากกว่าจำนวนคนที่ Vote No ถ้าไม่ผ่าน 2 เกณฑ์นี้ ต้องเลือกใหม่ และผอ.การเลือกตั้งต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 7 วัน และต้องเลือกตั้งให้เสร็จใน 45 วัน ต้องรอดูผลการเลือกตั้งก่อน
นายแสวงกล่าวต่อว่า ส่วนผู้ที่ไม่ได้ไปลงคะแนน ต้องไปแจ้งเหตุว่าทำไมไม่มาใช้สิทธิ์ ไม่เช่นกันจะถูกจำกัดสิทธิ์บางอย่าง เช่น การลงสมัครกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สามารถไปแจ้งได้ระหว่างวันที่ 2-8 ก.พ. 68 ทางสำนักทะเบียนท้องถิ่น และเว็บไซต์กกต. หรือแอปพลิเคชัน Smart Vote
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งน้อยกว่า 65% หรือน้อยกว่า 62% ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วปี 2563 กกต.จะเสียหน้าหรือไม่ เพราะมีคนทักท้วงประเด็นของการจัดการเลือกตั้งวันเสาร์ นายแสวงระบุว่า เหตุผลความจำเป็นชี้แจงไปแล้ว แต่เรามีมาตรการอำนวยความสะดวกให้ออกมาใช้สิธิ์ให้มากที่สุด ตั้งเป้าที่ 65% ต้องดูว่ามันจะถึงหรือไม่ หรือจะใกล้เคียงปี 2563 หรือไม่ คงต้องรอดู ส่วนเสียหน้าหรือไม่ ก็ทำเต็มที่รักษาภาพรวม ไม่ให้เกิดการเลือกตั้งที่เสียหายมากกว่า
ส่วนถ้าการเลือกตั้ง คนมาใข้สิทธิ์น้อยกว่าเดิมจะทบทวนการจัดการเลือกตั้งวันเสาร์หรือไม่นั้น เลขาธิการกกต.ระบุว่า กกต.ตั้งวันอาทิตย์เป็นวันเลือกตั้งหลักทุกครั้ง เพียงแต่ว่าครั้งนี้เป็นวันเสาร์เพราะมีเหตุดังที่ชี้แจงมาแล้ว
เมื่อถามอีกว่า กรณีฉีกบัตรเลือกตั้งและผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่สามารถลงคะแนนได้ มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน นายแสวงกล่าวว่า ฉีกบัตรมี 6 ราย ส่วนจำนวนผู้ที่ไม่ได้ลงคะแนนเพราะไม่มีชื่อในบัญชีมีไม่ถึง 10 ราย แต่ กกต. ยืนยันให้ความสำคัญหมดไม่ว่าจะ 1 คน เราก็ให้ความสำคัญ ถ้าไม่มีชื่อในบัญชีก็จะไม่เสียสิทธิ์
ส่วนกรณีที่จ.พิจิตร ซึ่งมีรายงานว่า มีผู้สมัครสจ.ถูกอุ้มนั้น นายแสวงกล่าวว่า เมื่อวาน (31 ม.ค. 68) ชุดสืบสวนของกกต.ได้ไปเยี่ยมบ้านก็จะได้พบและคุยกัน คาดว่าเป็นการเข้าใจผิดในการสื่อสาร ไม่ได้ถูกอุ้ม
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า กรณีที่ จ.บึงกาฬมีบัตรเลือกตั้งหายกว่า 300 ใบ นายแสวงกล่าวว่า เขตเลือกตั้งที่ 4 หน่วยเลือกตั้งที่ 5 ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 630 คน แต่แจกบัตรเลือกตั้ง 360 ใบ เลขสลับกัน เจ้าหน้าที่หน่วยทราบแล้ว แต่กระบวนการรับมอบมันผ่านไปแล้ว จึงไปเบิกที่ศูนย์ประสานงาน แลวทำบันทึกไว้ เรื่องนี้ตรวจสอบได้ มีที่มาที่ไปถูกต้อง