‘ครม.’ รับข้อเสนอแนะ ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ จี้ ‘มหาดไทย-พลังงาน-กกพ.-สมอ.’ แก้ปัญหา 4 ประเด็นหลัก 6 ประเด็นย่อย สนับสนุน ‘ประชาชน’ ติดตั้ง ‘โซลาร์รูฟท็อป’
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 เรื่อง ปัญหาการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา และข้อเสนอแนะ ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณา และนำกลับมาเสนอ ครม.ต่อไป
สำหรับรายงานและข้อเสนอแนะ เรื่อง ปัญหาการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ของผู้ตรวจการแผ่นดิน สรุปได้ว่า ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง จากการชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงและการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานของรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคแล้ว เห็นว่า
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดให้รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยพลังงานไฟฟ้าถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน
ดังนั้น รัฐจึงมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องจัดหรือดำเนินการให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง ซึ่งการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่เป็นอุปกรณ์ในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานสะอาดและไม่ก่อให้เกิดมลพิษให้เป็นพลังงานไฟฟ้าจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้พลังงานไฟฟ้า และประชาชนในพื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้สามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยังยืน
ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยการลดขั้นตอนความยุ่งยากในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจากการแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวพบว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการเพื่อลดขั้นตอนปัญหาความยุ่งยากในการขอติดตั้งโซลาร์เซลล์ของประชาชนในบางส่วนแล้ว
แต่ปัจจุบันก็ยังมีปัญหาอุปสรรคในการขอติดตั้งโซลาร์เซลล์ของประชาชนอยู่ อันอาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 230 (3) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 มาตรา 22 (3) และมาตรา 35 เสนอรายงานพร้อมข้อเสนอแนะ เรื่อง ปัญหาการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา โดยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
1.ด้านแนวปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1) เสนอให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งรัดการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 65 (พ.ศ.2558) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เพื่อให้การติตตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) อาคารอยู่อาศัยที่มีขนาดพื้นที่หรือมีน้ำหนักรวมไม่เกินตามที่กำหนด ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ไม่ถือเป็นการตัดแปลงอาคาร โดยไม่ต้องมีผลการตรวจสอบและรับรองโดยวิศวกรโยธา
และไม่ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก่อนดำเนินการ เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติที่อาจสร้างการะเกินความจำเป็นแก่ประชาชน รวมทั้งให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ในปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
นอกจากนี้ ในระหว่างการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ควรมีหนังสือแจ้งเวียนแนวทางปฏิบัติในการรับแจ้งการติดตั้งโซลาร์เซลล์ตามกฎกระทรวงดังกล่าวให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการให้บริการแก่ประชาชนผู้มาติดต่อได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วต่อไป
2) เสนอให้สำนักงาน กกพ. พิจารณาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อลดขั้นตอนที่ประชาชนต้องแจ้งการผลิตไฟฟ้าจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านต่อสำนักงาน กกพ. ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดประเภท ขนาด และลักษณะของกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2552 และประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง การกำหนดให้กิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตเป็นกิจการที่ต้องแจ้ง พ.ศ.2551 ออกตามความในมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550
เช่น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้กรณีการผลิตไฟฟ้าจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องแจ้งต่อสำนักงาน กกพ. หรือการจัดทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่างสำนักงาน กกพ. กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย แล้วให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายซึ่งมีข้อมูลของประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้า และได้มีการยื่นขอเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าอยู่แล้ว จัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้แก่สำนักงาน กกพ. เพื่อเก็บรวบรวมเป็นข้อมูลสถิติแทน
3) เสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟน. และ กฟภ.) พิจารณาแนวทางในการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานตรวจสอบการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการรองรับบริมาณงานที่เพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มอัตรากำลัง การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ส่วนงานอื่น เพื่อให้เข้ามาช่วยส่วนงานที่มีปริมาณงานมาก หรือการมอบหมายหรืออนุญาตให้เอกชนหรือบุคคลภายนอก (outsource) ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดำเนินการ รวมถึงร่วมกับสำนักงาน กกพ. ในการจัดทำและพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักงาน กกพ. กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย
2.ด้านการกำหนดมาตรฐานแผงโซลาร์เซลล์
เสนอให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ศึกษาแนวทางที่เหมาะสมที่จะช่วยเสริมสร้างให้ผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์ ทั้งที่ผลิตในประเทศไทยและที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมีมาตรการที่จะสร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานที่สูงกว่าในปัจจุบันที่ สมอ. กำหนดให้เป็นมาตรฐานทั่วไป ซึ่งผู้ผลิตในประเทศไทยเท่านั้นที่สามารถยื่นขอการรับรองคุณภาพได้ตามความสมัครใจ
เช่น การพิจารณากำหนดให้เป็นมาตรฐานบังคับเพื่อให้ผู้ผลิผลิต ผู้นำและผู้จำหน่ายต้องผลิต นำเข้า และจำหน่ายแต่เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตรวจสอบรับรองว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดเท่านั้น หรือการหารือร่วมกันระหว่าง สมอ. กับการไฟฟ้าฝ่าฝ่ายจำหน่าย (กฟน. และ กฟภ.) เพื่อพิจารณาจัดทำรายชื่อผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์ (Solar Panel List) ที่ผ่านการทดสอบจากสถาบันหรือหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับ
และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถใช้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตให้มีการเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า ของการไฟฟ้าได้ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับผลิตภัณฑ์อินเวอร์เตอร์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนของ กฟน. และ กฟภ. (Inverter List) หรือโดยวิธีการอื่นทีเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันและสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน ผู้บริโภคว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่นำมาติดตั้งใช้งานเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย
3.ด้านมาตรฐานผู้ติดตั้ง
เสนอให้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานอาชีพ หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพิจารณากำหนดหลักสูตร การฝึกอบรมการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านที่เป็นมาตรฐานกลาง ซึ่งได้รับการออกแบบจากคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในสาขาเกี่ยวข้อง
มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อเป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐานสำหรับสถาบันที่จัดฝึกอบรมทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทำให้ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นในการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นไปตามมาตรฐาน
โดยผู้ผ่านการฝึกอบรมสามารถได้รับใบรับรองที่แสดงถึงความรู้ความสามารถในการติดตั้ง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยและความเชื่อมั่นแก่ประชาชนที่มีต่อผู้ปฏิบัติงานด้านการติดตั้งโซลาร์เซลล์ รวมทั้งช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดระยะเวลาในการตรวจสอบความถูกต้องของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าด้วย
4.ด้านการสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน
เสนอให้กระทรวงพลังงาน สำนักงาน กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำคู่มืออธิบายเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนขั้นตอนและรายละเอียดในการติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขอติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านที่เข้าใจง่าย
รวมทั้งดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลดังกล่าวผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ เช่น สื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ แอปพลิเคชันบนมือถืออย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนสามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าในระยะยาวต่อไป