รัฐสภาอาเซียนด้านสิทธิมนุษยชนประณามไทยส่งผู้เห็นต่างการเมืองกลับกัมพูชา 'กษิต ภิรมย์' ชี้เป็นการทำลายล้างครอบครัว ความล้มเหลวของอาเซียนเรื่องสิทธิมนุษยชน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานเกี่ยวกับประเด็นสืบเนื่องเรื่องจากที่ไทยส่งตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวกัมพูชากลับประเทศจนทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสหประชาชาติและหน่วยงานสิทธิมนุษยชนต่างๆ
โดยเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มสมาชิกสภานิติบัญญัติหัวก้าวหน้าจากสภานิติบัญญัติประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประณามประเทศไทยที่ได้มีการเนรเทศนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวกัมพูชาออกจากประเทศไทย
โดยในแถลงการณ์ลงวันที่ 30 พ.ย.ระบุว่าสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) ขอเรียกคำสั่งเนรเทศของไทยว่าเป็น "การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง"
APHR ยังระบุถึงอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัยที่ห้ามไม่ให้บุคคลเดินทางกลับไปยังประเทศที่พวกเขาอาจเผชิญกับการประหัตประหาร โดยเน้นว่าประเทศกัมพูชา ภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต “ยังคงรณรงค์ปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว และบุคคลจากฝ่ายค้านอย่างเป็นระบบมาอย่างยาวนาน”
นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไทย และเป็นคณะกรรมการ APHR กล่าวว่าขณะนี้บุคคลที่ถูกเนรเทศเหล่านี้ถูกคุมขังในเรือนจําสามแห่งในกัมพูชา
นายกษิตกล่าวอีกว่า “นี่ไม่ใช่แค่การทําลายล้างครอบครัวของพวกเขา แต่เป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของความมุ่งมั่นของอาเซียนในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน”
ทางด้านของนางเมอร์ซีย์ ครีสตี้ บาเรนด์ ประธานร่วม APHR และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย กล่าวว่า APHR ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการกระทําที่น่าตกใจนี้ ยุติการเนรเทศผู้ลี้ภัยทางการเมือง และปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
นายชาร์ลส์ ซานติอาโก ประธานร่วม APHR และอดีตสมาชิกรัฐสภามาเลเซียกล่าวว่า อาเซียนต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
APHR สรุปในแถลงการณ์ว่า "การเปิดโอกาสให้มีการปราบปรามข้ามชาติดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศไทยได้ละทิ้งความรับผิดชอบในการรักษามาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ"
การเนรเทศครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการปราบปรามข้ามชาติในวงกว้างและน่าอึดอัดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งระบอบเผด็จการร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อกําหนดเป้าหมายและปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ข้ามพรมแดน
“การเนรเทศนักปกป้องสิทธิมนุษยชนครั้งนี้เน้นย้ำถึงความสอดคล้องของประเทศไทยกับระบอบเผด็จการ ซึ่งทําให้รัฐบาลที่กดขี่อย่างกัมพูชาสามารถปราบปรามผู้เห็นต่างนอกพรมแดนของตนได้” นายหว่อง เฉิน คณะกรรมการ APHR และสมาชิกรัฐสภามาเลเซียกล่าว