วงเสวนาเผย ปี 66 พบเด็ก-เยาวชนเล่นพนันเกือบ 5 ล้านคน เกิดหนี้สิน-ความเครียด-ความสัมพันธ์ครอบครัวพัง ผลสำรวจชี้ คนไทยมากกว่าครึ่งไม่เห็นด้วยกับกาสิโนถูกกฎหมาย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดประชุมศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2567 สังคมเสี่ยงพนัน เดิมพันอนาคต : จะเป็นอย่างไรหากประเทศไทยไม่เหมือนเดิม? เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ และข้อค้นพบจากงานวิจัยสู่สาธารณะ เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมกับร่วมเสนอนโยบาย มาตรการ หรือกลไกที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการจัดการปัญหาการพนัน โดยเฉพาะการปกป้องกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือเด็กและเยาวชน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า เทคโนโลยีทำให้การพนันพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งเชิญชวน และกระตุ้นความสนใจให้เข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านสื่อหลากหลายช่องทาง รวมถึงใช้อินฟลูเอนเซอร์โฆษณาชวนเล่นพนัน เช่น เสนอให้เล่นฟรี หลอกว่าไม่ใช่เกมพนัน หลอกว่าเป็นเว็บไซต์พนันถูกกฎหมาย จูงใจให้เล่นต่อเนื่องด้วยโบนัสเช็กอินรายวัน ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หลงเข้าสู่วงการพนันออนไลน์กว่า 4 ล้านคน
“พนันถ้าเล่นต่อเนื่อง จะสูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเอง แม้จะเสียพนัน หรืออยากหยุด ก็ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตราย กลายเป็น “นักพนันที่เป็นปัญหา” ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง และอาจจะเป็น “โรคติดการพนัน” โรคทางจิตเวชเหมือนกับการติดสารเสพติด ส่งผลกระทบถึงครอบครัว ชุมชน และสังคม คนติดการพนัน 1 คน ทำให้เกิดปัญหากระทบต่อคนใกล้ชิด 10-17 คน สสส. ขับเคลื่อนลดปัญหาจากพนัน มาตั้งแต่ปี 2553 เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความตระหนัก สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้แบบเท่าทัน ผลักดันให้เกิดกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กและเยาวชน รวมถึงพัฒนาและผลักดันการขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดกลไกการควบคุม ป้องกัน ลดปัญหาที่เกิดจากการพนัน” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันฯ กล่าวว่า สถานการณ์พนันในสังคมไทย ปี 2566 โดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ เก็บข้อมูลประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ใน 24 จังหวัด ระหว่างวันที่ 15 พ.ย.- 27 ธ.ค. 2566 รวม 7,131 ตัวอย่าง พบว่า คนไทย 99.3% มีบุคคลรอบตัวเล่นการพนัน โดย 21% ของกลุ่มเด็ก และ 26% ของกลุ่มเยาวชน พบเห็นบุคคลรอบตัวเล่นการพนันมีผลทำให้รู้สึกอยากเล่นพนันในระดับมากถึงมากที่สุด ที่น่าเป็นห่วงคือ มีคนไทยมากถึง 63.1% หรือประมาณ 34.51 ล้านคน เล่นการพนัน
“ข้อมูลปี 2566 พบเด็ก (อายุ 15-18 ปี) เล่นพนันทะลุหลักล้านคือมีมากถึง 1.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 2.31 แสนคนเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 และพบเยาวชน (อายุ 19-25 ปี) เล่นการพนัน 3.92 ล้านคน ผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป เล่นการพนัน 4.47 ล้านคน ทั้งสองกลุ่มมีจำนวนคนเล่นพนันสูงกว่าปี 2564 กลุ่มละประมาณกว่า 4 แสนคน ด้านผลกระทบ 7.45 ล้านคน ระบุว่าตนเองได้รับผลกระทบจากการพนัน เช่น ขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ขายทรัพย์สินหรือสิ่งมีค่าเพื่อเล่นพนันหรือใช้หนี้ มีปัญหาความเครียด เสียสุขภาพจิต เสียเวลาทำงาน การเรียน สุขภาพเสื่อมโทรม ปากเสียงทะเลาะกับคนในครอบครัว ต้องโกหกปิดบังผู้อื่นเรื่องการเล่นพนัน เสียเพื่อน ญาติ ครอบครัว และคนเล่นการพนันในปี 2566 มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นนักพนันที่เป็นปัญหากว่า 6 ล้านคน ซึ่งควรเข้ารับบริการขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต แต่สังคมไทยยังมีไม่เพียงพอ" ดร.นวลน้อย กล่าว
นอกจากนั้น ผลสำรวจยังพบด้วยว่า คนไทยมากกว่าครึ่งไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มการพนันถูกกฎหมาย ทั้งพนันทายผลฟุตบอล บ่อนกาสิโน และพนันออนไลน์ เพราะจะมีผลให้คนเล่นพนันเพิ่มขึ้น
ขณะที่ ผศ.ดร.ณัชพล จิตติรัตน์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในเวที ประเทศไทยยุคหลังกาสิโน ปัญหาและความท้าทาย กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติสถานบันเทิงครบวงจรมีประเด็นทางกฎหมายที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ตั้งแต่ความไม่ครอบคลุมเรื่องบทนิยาม การควบคุมอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกาสิโน การจัดเก็บภาษีและการบริหารรายได้จากธุรกิจกาสิโน และมาตรการในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการพนัน ตามด้วยการขยายความ ความสัมพันธ์ระหว่างอาชญากรรมและธุรกิจกาสิโน ซึ่งนอกจากการพนันจะเป็นอาชญากรรมประเภทอาชญากรรมไร้เหยื่อ (Victimless Crime) แล้ว การพนันยังเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมประเภทอื่นๆ ทั้งธุรกิจกาสิโนยังเป็นธุรกิจที่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน (Money Laundering)
“กาสิโนมักถูกใช้เป็นสถานที่ฟอกเงิน ด้วยเหตุที่อาชญากรมีความสะดวกต่อการเข้าถึงบ่อนกาสิโนรวมทั้งสามารถนำเงินที่ผิดกฎหมายมาเล่นในบ่อน ทำให้ที่มาของเงินเปลี่ยนแปลงไปได้ง่าย และกาสิโนหลายแห่งไม่ได้เคร่งครัดต่อการควบคุม ถ้ารัฐหละหลวมด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จะทำให้เกิดผลกระทบตามมา อาชญากรรมที่เกี่ยวกับความผิดมูลฐานจะมีปริมาณมากขึ้น ประเทศไทยจะกลายเป็นแหล่งกบดานขององค์กรอาชญากรรม โดยเฉพาะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และ FATF ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีหน้าที่ในการให้คำแนะนำและประเมินมาตรฐานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อาจประเมินคะแนนของประเทศไทยในระดับที่ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ส่งผลให้ถูกใส่รายชื่อใน Grey List ซึ่งการอยู่ใน Grey List จะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เพราะจะทำให้กลายเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน เวลาที่มีการโอนเงินไปยังประเทศอื่น เงินนั้นก็จะต้องถูกตรวจสอบก่อน ภาคเอกชนในประเทศอื่นๆ ก็จะไม่กล้าทำการค้าด้วย” ผศ.ดร.ณัชพล กล่าว
น.ส.ฐิติกานต์ คำเขียว รองนายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2566 เล่าเหตุการณ์เพื่อนติดพนันออนไลน์ 2 คน เพื่อบอกให้ทุกคนรู้ว่าการพนันเป็นปัญหาใหญ่มากกว่าที่คุณคิด เพื่อนคนแรกติดคุก เพื่อนตอนมัธยม ติดพนันบอลมาก เล่นจนหมดตัวแล้วอยากได้เงินคืน เลยตัดสินใจไปกู้เงินนอกระบบมาเล่นพนันบอลต่อเพื่อหวังเอาทุนคืน แต่ก็เล่นเสียเช่นเคย พวกหนี้นอกระบบทวงหนี้โหด เพื่อนไม่กล้าบอกพ่อแม่ เลยตัดสินใจไปขายยาเสพติด สุดท้ายโดนตำรวจจับ โดนโทษติดคุกตลอดชีวิต
เพื่อนคนที่สองเสียชีวิตแล้ว ณ ปัจจุบัน เพื่อนมหาวิทยาลัย ทำงานส่งตัวเองเรียนหนังสือ ตอนปี 1 เทอม 2 เพื่อนเริ่มขาดเรียน ขาดส่งงาน เพื่อนทุกคนก็ช่วยจนผ่านมาได้ พอปี 2 เพื่อนเริ่มขอยืมเงินคนที่สนิท ทุกคนก็ให้ยืมเพราะเข้าใจว่าต้องทำงาน อาจจะหมุนเงินไม่ทัน เป็นแบบนี้จนถึงปี 3 เริ่มใช้หนี้ไม่ไหว คิดหาเงินด้วยการเล่นบาคาร่า กับ พนันบอลออนไลน์ ช่วงแรกเล่นได้เยอะเลยมีเงินมาใช้หนี้ แต่หลังๆ เล่นเสียตลอด
เพื่อนเริ่มหมดหนทางในการหาเงินและการใช้หนี้ บวกกับปัญหาเรื่องความรัก เพื่อนเลยพยายามตีตัวออกห่างจากทุกคนเพราะไม่อยากให้ใครเห็นภาพตัวเองในมุมมองที่ไม่ดี เพื่อนขาดเรียน 1-2 เดือน เพื่อนๆพยายามตามให้มาเรียน อาจารย์ก็พยายามช่วย แต่เพื่อนตัดสินใจแล้วว่าทางออก คือ การลาจากโลกนี้ เลยตั้งใจทำงานกลุ่มครั้งสุดท้ายก่อนจบปี 3 มาก เหมือนอยากให้ทุกคนจำภาพในมุมที่ดีที่สุดของเขา จนวันที่ 13 ต.ค. ก็ได้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง จากเรื่องราวของคนใกล้ชิด จะเห็นว่าพนันเป็นปัญหาใหญ่อย่าคิดจะลองเล่น เพราะอาจเสียอนาคตไปตลอดชีวิต