แพร่มติ ป.ป.ช.ชี้มูลอาญา-วินัย 'สุรพล หมื่นโยชน์' อดีตผอ.โรงเรียนบ้านหลุ่งตะเคียน นครราชสีมา ทุจริตรับสมัครคัดเลือกครูสอนวิชาปฐมวัย ปี 2559 ส่งสำนวน อสส. ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนกม. แล้ว -พวก 1 ราย สกุลเดียวกัน โดนโทษวินัยร้ายแรง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายสุรพล หมื่นโยชน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหลุ่งตะเคียน อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา กับพวก กรณีกล่าวหาทุจริตในการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อเป็นพนักงานราชการทั่วไป ตำแหน่งครูผู้สอน วิชาปฐมวัย เมื่อปี 2559 ของโรงเรียนบ้านหลุ่งตะเคียน
โดยคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติชี้มูลความผิดทางอาญาและทางวินัย ดังนี้
การกระทำของนายสุรพล หมื่นโยชน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 84 วรรคสาม และมาตรา 85 วรรคสอง
การที่นายรัฐพงษ์ หมื่นโยชน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพนักงานราชการครู เอกดนตรี ในฐานะผู้จัดทำประกาศโรงเรียนบ้านหลุ่งตะเคียน เรื่อง การรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุเป็นพนักงานราชการทั่วไป ไม่ดำเนินการลงประกาศ รับสมัครฯ ในเว็บไซต์ของทางราชการ อันมีลักษณะไม่เปิดเผยเป็นการทั่วไป และแพร่หลายให้ผู้มีสิทธิสมัครสอบคัดเลือกรายอื่นทราบนั้น เป็นการดำเนินการตามที่นายสุรพล หมื่นโยชน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหลุ่งตะเคียน ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจสั่งการ
ประกอบกับจากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีผู้มายื่นใบสมัครจำนวน 5 ราย จึงเห็นว่า ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายรัฐพงษ์ หมื่นโยชน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้กระทำการอันมีมูลความผิดทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ.2547 ข้อ 24
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับนายสุรพล หมื่นโยชน์ และให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการทางวินัยกับนายสุรพล หมื่นโยชน์ และนายรัฐพงษ์ หมื่นโยชน์ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด