ตร.กองปราบคุมตัว ทนายตั้ม-ภรรยา ฝากขังศาลอาญา คดีฉ้อโกงนับสิบล้าน ด้านทนายส่วนตัวยืนยันวันนี้ไม่มีการประกันตัวทนายตั้มเพราะรู้เป็นคดีใหญ่ แต่จะยื่นประกันตัวภรรยา ล่าสุดศาลไม่ให้ประกันตัวภรรยา เหตุหวั่นหลบหนี ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ด้านทนายอัจฉริยะร้อง ปปป.สอบเหตุใดทนายตั้มเงียบ หลังช่วง ธ.ค. 66 แถลงข่าวแฉ ‘บิ๊กรัฐวิสาหกิจ’ แก้ไขสูติบัตร หวังขยายเวลาเกษียณตัวเอง หวั่นไปคุยรับผลประโยชน์หรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวกรณีการดำเนินคดีกับนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม พร้อม นางปทิตตา เบี้ยบังเกิด ภรรยา สืบเนื่องจากที่ทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบจับกุม ในคดีหลอกลวงเงิน น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือ เจ๊อ้อย ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา ฉ้อโกง , ฟอกเงิน และ ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบฟอกเงิน คดีวงเงิน 71 ล้านบาท วงเงิน 39 ล้านบาท ค่าออกแบบโรงแรม ซึ่งทางฝั่งของ น.ส.จตุพรยืนยันว่าไม่ได้ให้ด้วยความเสน่หา
ในช่วงเวลา 13.30 น.ที่ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เจ้าหน้าที่ได้คุมตัว นายษิทรา และนางปทิตตา ไปฝากขังที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก หลังจากที่เมื่อวานนี้ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาจากฉะเชิงเทรา เข้ามาสอบสวนที่กองปราบตลอดทั้งคืน จากการสังเกต พบว่านายษิทรา สวมเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงยีนส์ ส่วนนางปทิตตา ที่อยู่ในชุดเสื้อสีดำ กางเกงสีขาว สวมแมสก์ และแว่นตาดำปิดบังใบหน้า ซึ่งทั้งสองคนไม่ได้ให้สัมภาษณ์อะไรกับผู้สื่อข่าว โดยเมื่อควบคุมตัวออกมา ทนายตั้ม ที่มีสีหน้าเรียบเฉย ได้ยกมือไหว้ผู้สื่อข่าวที่มารอทำข่าวอยู่เท่านั้น ก่อนที่ตำรวจจะนำตัวผู้ต้องหาขึ้นรถ มุ่งหน้าไปศาลอาญาทันที
เบื้องต้นท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนจะคัดค้านการประกันตัวของผู้ต้องหาทั้งสองราย เนื่องจากมีพฤติการณ์หลบหนี และไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
ส่วนบรรยากาศการเยี่ยมเยียนนายษิทราและภรรยานั้น ในช่วงเวลาประมาณ 9.00 น. ญาติของนายษิทรา และนางปทิตตา เบี้ยบังเกิด ภรรยา ได้เดินทางเข้าเยี่ยม 2 ผู้ต้องหาเป็นเวลาเกือบ 1 ชม. ก่อนจะเดินทางกลับในเวลา 10.05 น.
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายสายหยุด เพ็งบุญชู ทนายความของนายษิทรา และนางปทิตตา ยืนยันว่า วันนี้จะไม่มีการประกันตัวทนายตั้ม เนื่องจากทนายตั้มรู้ตัวว่าเป็นคดีใหญ่ ความเสียหายค่อนข้างสูง และมีการระบุพฤติกรรมในหมายจับว่ายุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและพยายามหลบหนี หากไม่มีพยานหลักฐานที่มากพอสมควร ยื่นคำร้องไปโอกาสก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ศาลอาญาจะให้ประกัน แต่จะมีการยื่นประกันตัวนางปทิตตา ส่วนเรื่องหลักทรัพย์การประกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบถามกับศาล ซึ่งจะได้ประกันตัวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล
ส่วนนายนายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือทนายเดชา เดินทางมาที่กองปราบฯด้วย กล่าวว่า มาเป็นพยานในคดีดิไอคอน ไม่ได้มาเป็นทนายความ และไม่ได้มาเยี่ยมทนายตั้มและภรรยา แต่ก็อยากฝากให้ทนายตั้มมีสติ หากสิ่งใดผิดก็ยอมรับผิด หากไม่ผิดก็สู้คดีไป ซึ่งตัวทนายตั้มก็มีการทำใจในเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยตนมีการพูดคุยกับ นายสายหยุด ที่ได้มีการเขียนคำร้องอยู่ที่ศาล ว่าจะไม่ประกันตัวทนายตั้มวันนี้ แต่จะยื่นประกันตัวเฉพาะตัวภรรยาไปก่อน ซึ่งตัวภรรยาก็มีโอกาสที่จะได้รับการประกันตัวเนื่องจากไม่ได้เป็นการฉ้อโกง แต่เพียงมีชื่ออยู่ในบ้านเท่านั้น ส่วนหลักทรัพย์ก็ยื่นตามเกณฑ์ไปก่อน 200,000 - 500,000 บาท หลังจากนั้นหากศาลสั่งเพิ่มหลักทรัพย์ ก็เพิ่มตามคำสั่งศาล
นายเดชา ยืนยันว่า ไม่มีเพื่อนทนายคนไหนทิ้งทนายตั้ม แต่พูดออกไปแล้วทัวร์ก็ลง ไม่ได้สละเรือทุกคนยังรักทนายตั้มเหมือนเดิม และยังเป็นทีมอเวนเจอร์อยู่ แต่สิ่งไหนทำผิดก็รับโทษไป และเชื่อว่าทางทนายมีการวางแผนและมีแนวทางในการต่อสู้คดีอยู่แล้ว เพราะคดี 39 ล้าน ก็ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา ส่วนทนายตั้มก็ได้มีการเตรียมหลักฐานชี้แจงไว้แล้ว พร้อมยื่นให้กับทางตำรวจทันที
“ส่วนที่มีคดีรอคิวอยู่อีกเยอะนั้น ทำอะไรไว้ก็ต้องรับไป รักกันอยู่แต่ก็กลัวทัวร์ลง พูดอะไรมากไม่ได้ อยากจะเข้าไปเยี่ยมยังกลัวเขาไม่ให้เข้าไปเยี่ยมเลย” ทนายเดชา กล่าว
อีกด้าน นายสมชาติ พินิจอักษร หรือ ทนายเล็ก ทนายความของน.ส.จตุพร เดินทางมาขอยื่นคัดค้านการประกันตัวทั้ง 2 คน การคัดค้านจะมีน้ำหนักหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล และว่าหลังจากที่ทนายตั้มถูกออกหมายจับ ทาง น.ส.จตุพร ไม่ยินดียินร้าย เสียใจ โดยยึดอุเบกขาเป็นตัวตั้ง
@ศาลยกคำร้องประกันตัวภรรยาทนายตั้ม หวั่นหลบหนี-ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน
ต่อมาในช่วงเวลา 14.30 น. ได้มีการเปิดคำร้องยกคำร้องขอฝากขังนายษิทราในฐานะผู้ต้องหาที่ 1 และ นางปทิตตา ผู้ต้องหาที่ 2 และเปิดคำนิจฉัยศาลที่ยกคำร้องของทนายความซึ่งขอประกันตัวนางปทิตตา ระบุว่า
พนักงานสอบสวนขอฝากขังผู้ต้องหาที่ 1 ในข้อหาฉ้อโกง,ฟอกเงิน, ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทาความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (18), มาตรา 5, มาตรา 9 วรรคสอง และมาตรา 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
และขอฝากขังผู้ต้องหาที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทาความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทาความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (18), มาตรา 5, มาตรา 9 วรรคสอง และมาตรา 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหา 2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
โดยพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง และความเสียหายมีมูลค่าสูง หากผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนี และไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวน
ทั้งนี้ ศาลอาญาพิจารณาคำร้อง และสอบถามผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหา 2 แล้ว จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหา 2 ได้
ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการฝากขัง ผู้ต้องหาที่ 1ไม่ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว
ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวงเงิน 500,000 บาท และขอติดอุปกรณ์กำไล EM
ศาลอาญา พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี พนักงานสอบสวนคัดค้านเกรงจะหลบหนี ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน และผู้เสียหายคัดค้านเกรงจะหลบหนีไม่ได้รับชดใช้ค่าเสียหายคืน ประกอบกับต้องทำการสอบสวนพยานอีก 10 ปาก กรณีอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนได้ และเป็นกรณีที่มีความจำเป็นต้องปกป้องกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงเข้าสู่สำนวนคดี ในชั้นสอบสวนนี้จึงมีเหตุอันสมควรที่จะรอฟังผลให้เสร็จสิ้นก่อน จึงให้ยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราว
ภายหลังเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้คุมตัวผู้ต้องหาที่ 1 ไปส่งยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ไปคุมขังยังทัณฑสถานหญิงกลาง ต่อไป
อนึ่งก่อนหน้านี้ ในช่วงสายที่หน้ากองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณี นายษิทธา เคยแถลงข่าวแฉ "บิ๊กรัฐวิสาหกิจ" แห่งหนึ่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงสูติบัตร และบัตรประชาชน เพื่อต่ออายุราชการอีก 1 ปี
นายอัจฉริยะ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2566 นายษิทธา ได้ยืมมือสื่อมวลชนแถลงข่าวที่ บริษัท ษิทรา ลอร์ เฟิร์ม แฉเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งว่ามีการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยแก้ไขเปลี่ยนแปลงสูติบัตร และบัตรประชาชน เพื่อขยายระยะเวลาเกษียณของตัวเองไปอีก 1 ปี
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวมีอำนาจเซ็นอนุมัติโครงการตั้งแต่ 50 ล้านขึ้นไป โดยทนายตั้มอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่มหาดไทยให้ความร่วมมือด้วย แต่พอเรื่องนี้ร้องเรียนไปได้สองวันก็เงียบหายไป บิ๊กรัฐวิสาหกิจรายนั้นก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ขณะนี้ จึงมาร้องให้ บก.ปปป. ตรวจสอบว่ามีการกระทำความผิดจริงหรือไม่ และ เรื่องนี้เชื่อว่ามีความไม่ชอบมาพากลจึงอยากให้ตรวจสอบด้วยว่ามีการคุยกันเบื้องหลังกับทนายตั้มให้เรื่องเงียบหรือไม่