ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายกฟ้องคดีขอเพิกถอนกฎกระทรวงขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบอัตราใหม่ จากเดิมกรัมละ 0.005 บาท เป็น 0.10 บาท ชี้เป็นมาตรการเพื่อลดการบริโภคยาสูบคลังดำเนินการชอบด้วยกฎหมาย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านผลแห่งคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ฟร. 15/2562 หมายเลขแดงที่ ฟร. 3/2567 ระหว่าง นาย ภ กับพวกรวม 3 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ 1 กระทรวงการคลังที่ 2 (ผู้ถูกฟ้องคดี)
คดีนี้ นาย ภ กับพวก เป็นผู้ประกอบการผลิตยาสูบประเภทยาเส้นอื่นและมีหน้าที่ต้องชำระภาษีสรรพสามิต ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 กำหนดอัตราภาษีสำหรับยาเส้นอื่นนอกจากยาเส้นที่ผู้เพาะปลูกต้นยาสูบทำจากใบยาที่ปลูกและหั่นเองและได้ขายยาเส้นนั้นแก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบตามปริมาณ จากเดิมที่กรัมละ 0.005 บาท เป็นกรัมละ 0.10 บาท เป็นการกำหนดอัตราภาษีที่สูงเกินกว่าปกติ ทำให้ต้องชำระภาษีในอัตราที่เพิ่มขึ้น และเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายบุหรี่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย จึงฟ้องขอให้เพิกถอนกฎกระทรวงดังกล่าว
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อเปรียบเทียบภาระภาษีของยาเส้นกับบุหรี่และยาเส้นกับยาเส้นปรุงในปริมาณที่เท่ากัน ปรากฏว่ามีภาระภาษีที่ต่างกันถึง 350 เท่า และ 340 เท่า ตามลำดับ และเมื่อสินค้ายาสูบ ซึ่งรวมถึงยาเส้นถือเป็นสิ่งเสพติดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ภาครัฐจึงมีนโยบายที่จะลดการบริโภคยาสูบของประชาชนโดยอาศัยมาตรการด้านต่าง ๆ ทั้งมาตรการทางภาษีและมิใช่ทางภาษี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดย กรมสรรพสามิตจึงมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมปริมาณการผลิต กระบวนการผลิต และการจำหน่ายยาสูบให้ได้คุณภาพและมีมาตรฐาน มิให้กระทบต่อสุขภาพของประชาชน และมีมาตรการเพื่อลดการบริโภคยาสูบของประชาชน หากปล่อยให้สัดส่วนของผู้บริโภคสินค้ายาสูบสูงขึ้นก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพลานามัยของประชาชน ทำให้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งในการกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตนั้น
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยกรมสรรพสามิต ได้จัดเก็บภาษีบนหลักการที่สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ฟุ่มเฟือยและเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและศีลธรรมอันดี โดยมีหลักการในการกำหนดอัตราภาษีเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างผลิตภัณฑ์ยาสูบต่าง ๆ ภายใต้สมมติฐานที่ใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นฐานในการคำนวณเงินบำรุงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าสุราและยาสูบ ในการปรับเพิ่มอัตราภาษีสำหรับยาเส้นอื่นนอกจากยาเส้นที่ผู้เพาะปลูกต้นยาสูบ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้คำนึงถึงเหตุผลพื้นฐานบนหลักการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ (สะท้อนหลักสุขภาพ) และได้ทำการพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างผลเสียต่อสุขภาพจากการบริโภคยาเส้นและภาระภาษีที่ยาเส้นควรได้รับกับผลเสียต่อสุขภาพจากการบริโภคบุหรี่ซิกาแรตและภาระภาษีของบุหรี่ซิกาแรตด้วยแล้ว
การปรับเพิ่มอัตราภาษีสำหรับยาเส้นดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นการกำหนดเกินกว่าความจำเป็นและเพิ่มภาระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอย่างมากหรือเกินสมควรแก่เหตุแต่อย่างใด ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีจากสินค้ายาสูบอีกด้วย จึงมิได้ขัดหรือแย้งกับมาตรา 26 และมาตรา 75 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 ที่กำหนดอัตราภาษีสำหรับยาเส้นอื่นนอกจากยาเส้นที่ผู้เพาะปลูกต้นยาสูบทำจากใบยาที่ปลูกและหั่นเองและได้ขายยาเส้นนั้นแก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบตามปริมาณ จากเดิมที่กรัมละ 0.005 บาท เป็นกรัมละ 0.10 บาท จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว