ปปง.สั่งยึดอายัดทรัพย์คดีหลอกลงทุนเทรดเงินเหรียญดิจิทัล เครือข่าย‘สฤษฏ์’พวก 52 รายการ 2,561.1 ล. ที่ดินสิ่งปลูกสร้าง 30 แปลง 20 บริษัทถือกรรมสิทธิ์ โครงการบ้านหรูย่านถ.สนามบินน้ำ จ.นนทบุรีด้วย 11 หลัง 1,450 ล้าน คอนโดฯ 10 ห้อง 67.4 ล. เงินฝาก 12 บัญชี 305.1 ล. เกี่ยวพันคนไทยต่างชาติอื้อ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย.193/2567 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2567 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวราย นายสฤษฏ์ อดุลย์พิจิตร กับพวก ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นทรัพย์สินรวม 52 รายการ รวมราคาประเมิน 2,561,188,503.70 บาท
คำสั่งระบุที่มาในการยึดและอายัดทรัพย์สิน ปปง.ได้รับคำร้องจากผู้เสียหายรายหนึ่ง ขอให้พิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กับนายสฤษฏ์ อดุลย์พิจิตร กับพวก มีพฤติการณ์คือ ระหว่างวันที่ 22 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2565 นายสฤษฏ์กับพวก ได้ร่วมกันประกาศโฆษณาเผยแพร่ด้วยเอกสารหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏข้อความทางอินเทอร์เน็ตในแอปพลิเคชันไลน์และเฟซบุ๊ก ใช้ชื่อบัญชีว่า “ณัฐชา องุ่น” และ “MooK” ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึง เปิดดู อ่าน และทราบข้อความได้ โฆษณาเชิญชวนให้สมัครใช้งานแอปพลิเคชัน “Streaming” โดยได้ประกาศหรือโพสต์ภาพและข้อความชักชวนให้มาลงทุนเป็นเงินสกุลบาทไทยและให้โอนเงินเข้าบัญชีในระบบที่นายสฤษฏ์ กับพวก ได้กำหนดไว้เพื่อลงทุนเทรดเงินเหรียญดิจิทัล เมื่อลงทุนแล้วจะได้รับผลตอบแทนกำไรคืนเป็นเงินสกุสดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นความเท็จ นายสฤษฏ์ กับพวกไม่มีเจตนาที่จะให้ผลตอบแทนคืนแก่ผู้ลงทุนตามที่ได้ประกาศโฆษณาเผยแพร่ข้อความชักชวนไว้ การกระทำดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของนายสฤษฏ์กับพวก 15 ครั้ง ได้รับความเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 3,627,966 บาท ผู้เสียหายจึงเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่นายสฤษฏ์ กับพวก
ต่อมาพนักงานสอบสวน มีความเห็นควรสั่งฟ้อง ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นายสฤษฏ์ อตุลย์พิจิตร กับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
“นอกจากนี้ จากการขยายผลตรวจสอบเส้นทางการเงิน ประกอบการรายงานของสถาบันการเงินเกี่ยวกับการอายัดบัญชีในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงปรากฏว่ามีการโอนเงินที่ได้จากการกระทำความผิดผ่านบัญชีเงินฝากหลายบัญชี ถอนเงิน และผ่ากเงิน แล้วมีการนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดไปซื้อทรัพย์สินหลายรายการ มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจำนวนมาก ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ในการโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มา การจำหน่าย การโอน ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 11/2567 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 จึงมีมติเห็นชอบให้เพิ่มความผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 5 ในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน รายนายสฤษฏ์ กับพวก ด้วย”คำสั่งระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัด 52 รายการ ประกอบด้วย
1.อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินตามโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ จำนวน 30 แปลง ผู้ถือกรรมสิทธิ์/ผู้ครอบครอง 20 บริษัท
2.ห้องชุดในอาคารชุดต่างๆในกรุงเทพฯ 4 แห่ง ในชื่อบุคคลต่างชาติ 5 คน
รวมทรัพย์สิน 2 ประเภท 40 รายการ รวมราคาประเมิน 2,256,044,552 บาท
3. อายัดรายการเงินฝาก 12 บัญชี รวม 305,143951.70 บาท ประกอบด้วย ในชื่อนิติบุคคลแห่งหนึ่งเป็นบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย สาขาสีลม จำนวน 2 บัญชี 151.7 ล้านบาท และเงินฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ในนามบุคคลต่างชาติ 9 คน 10 บัญชี
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ในรายการทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ เป็นที่ดินตามโฉนดที่ดิน จำนวน 11 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ในพื้นที่ ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี มูลค่า 1,450,000,000 บาท มีชื่อบริษัทแห่งหนึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์/ผู้ครอบครองด้วย
ขณะที่เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2567 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ออกเอกสารชี้แจงกรณี คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งที่ ย. 193/2567 ลงวันที่ 18 ก.ย. 2567 ให้ยึดและอายัดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างย่านสนามบินน้ำ ไว้ชั่วคราวมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน และพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ได้นำคำสั่งยึดและอายัดไปติดประกาศหน้าประตูทางเข้าออกโครงการที่ยึดและอายัด ซึ่งต่อมามีข่าวว่าโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งป้ายคำสั่งยึดและอายัดโครงการได้ถูกปลดหายไปจากหน้าประตูทางเข้าออกไซต์งานด้วย
สำนักงาน ปปง. ชี้แจงว่าโดยที่การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างตามโครงการเป็นการดำเนินการตามสัญญาทางแพ่ง ที่มีมาก่อนคำสั่งยึดและอายัดของคณะกรรมการธุรกรรมดังกล่าว หากการก่อสร้างไม่ก่อให้เกิด ความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ยึดและอายัดนั้นก็ย่อมสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงาน ปปง. ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ส่วนกรณีมีการปลดป้ายคำสั่งยึดและอายัดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้นำไปปิดไว้นั้น กรณีดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการถอน ทำให้เสียหาย ทำลายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งตราหรือเครื่องหมาย อันเจ้าพนักงานได้ประทับหรือหมายไว้ที่สิ่งใดๆ ในการปฏิบัติการตามหน้าที่เพื่อเป็นหลักฐานในการยึดหรืออายัด อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 141 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยสำนักงาน ปปง. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป