ถอดบทเรียน ‘ไฟไหม้รถบัส นร.’ ชี้เหตุจากหย่อนยานบังคับใช้ กม.-คศป.เผยอุบัติเหตุบนท้องถนนคร่า 2 หมื่นชีวิต ประเทศเสียค่ารักษาพยาบาลปีละ 2 แสนล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2567 นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการส่งเสริมความปลอดภัย ป้องกัน และลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างยั่งยืน (คศป.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยถึงกรณีอุบัติเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ที่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต หน้าอนุสรณ์สถาน จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567 โดยระบุว่า โศกนาฏกรรมดังกล่าวที่ส่งผลให้มีเด็กนักเรียนและครูเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ได้กลายเป็นที่ถกเถียงถึงสาเหตุต้นตอของปัญหาในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ประเด็นของมาตรฐานความปลอดภัย แผนการเผชิญเหตุ ไปจนถึงความเหมาะสมของกิจกรรมทัศนศึกษาต่างๆ นานา
นายวิชาญ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมทัศนศึกษาถือเป็นเรื่องปกติที่ทำกันมานานแล้ว หากแต่สาเหตุแท้จริงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ มักมาจากความหย่อนยาน การไม่ดูแล ระมัดระวัง หรือปล่อยปละละเลย และเมื่อเกิดเหตุการณ์สลดในลักษณะนี้ขึ้นมาเมื่อไร ก็มักจะมีการพูดคุยถึงมาตรการต่างๆ ที่กลายเป็นไฟไหม้ฟางทุกครั้ง ซึ่งคิดว่าประเด็นหลักของเรื่องนี้คือการบังคับใช้กฎหมายให้ได้ เพราะกฎหมายที่ใช้ควบคุมกำกับในเรื่องเหล่านี้ ล้วนมีเขียนไว้อยู่แล้วแทบทั้งหมด แต่จะมาขึ้นอยู่กับที่วิธีการบังคับและเลือกใช้กฎหมายต่างๆ มากกว่า
นายวิชาญ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนเป็นจำนวนถึงกว่า 2 หมื่นคน มีสถิติสูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ไม่นับรวมการบาดเจ็บอีกปีละกว่า 1 ล้านคน ซึ่งหากมองแล้วในปีหนึ่งเราสูญเสียเงินงบประมาณไปกับการรักษาพยาบาล ดูแลอาการบาดเจ็บ ทุพพลภาพต่างๆ ที่เกี่ยวกับท้องถนนเพียงอย่างเดียวถึงปีละ 2 แสนล้านบาท ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นปัญหาสำคัญ ที่หากแก้ไขได้ก็จะช่วยให้ประเทศชาติสามารถลดงบประมาณและการสูญเสียเหล่านี้ลงไปได้มาก
อย่างไรก็ตาม เรื่องของอุบัติเหตุทางท้องถนนถือเป็นประเด็นปัญหาที่ซับซ้อน และมีหลากหลายหน่วยงานที่แยกกันกำกับดูแลตามกฎหมายแต่ละฉบับ แบ่งงานกันทำเฉพาะด้าน และอาจมีการให้ความร่วมมือกันที่ค่อนข้างน้อย ดังนั้นเมื่อช่วงกลางปี 2567 ทาง สช. จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการส่งเสริมความปลอดภัย ป้องกัน และลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างยั่งยืน (คศป.) ขึ้น เพื่อเป็นกลไกกลางในการระดมทุกภาคส่วนเข้ามามองหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ร่วมกัน
“คณะกรรมการฯ เราจะเข้ามาประมวล มาศึกษาดูว่าต้องทำอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นในมิติเรื่องของกฎหมาย ข้อระเบียบ งบประมาณ หรือประเด็นต่างๆ เช่น จะยกระดับโครงสร้าง แก้ไขถนนที่มันพังอย่างไร ต้องติดป้ายตรงไหนเพิ่ม ฯลฯ และหากสามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้ ก็ทำเป็นโมเดลที่ให้รัฐบาลสามารถนำเอาไปใช้ได้ต่อไป ขณะเดียวกันก็แสวงหาแนวทางความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคเอกชน ให้เขาเข้ามาช่วยดูแล เพื่อที่จะลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงมาได้ อันนี้คือเป้าหมายของคณะกรรมการฯ” นายวิชาญ กล่าว
นายวิชาญ กล่าว กล่าวว่า ล่าสุดทางคณะกรรมการฯ ได้มีการจัดประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ เช่น กรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก พร้อมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปแล้วรวม 5 ครั้ง และกำลังจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในประเด็นของการลดอุบัติเหตุ ในวันที่ 16 ต.ค. 2567 นี้ ซึ่งจะเชิญทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันแสดงความคิดเห็นถึงแนวทางที่จะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย โดยจะมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาเป็นประธานในการเปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะมีการจัดเวทีในอีก 4 ภาค ทั้งเหนือ กลาง ใต้ และอีสาน
“ในเวทีเราก็จะมีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ รวมถึงรับฟังมุมมองจากภาคส่วนต่างๆ ว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับมาตรการ หรือการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงรับฟังว่าแต่ละส่วนต้องการให้เกิดอะไร เพื่อที่จะลดทอนการเสียชีวิต การเจ็บป่วย และงบประมาณที่จะสูญเสียไปกับอุบัติเหตุทางท้องถนน โดยจะมีภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมฟังและระดมสมองไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดสิ่งต่างๆ ที่สามารถดำเนินการได้ เพราะสุดท้ายข้อสรุปนี้จะไม่ใช่เพียงให้เกิดข้อเสนอในเชิงนโยบาย แต่เป็นสิ่งที่เราจะนำไปใช้ในการปฏิบัติได้ทันที ช่วยอุดรูรั่วต่างๆ ที่มี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา” นายวิชาญ กล่าว
นายวิชาญ กล่าวอีกว่า ในส่วนภาพรวมการทำงานของ คศป. ที่ผ่านมา พบว่าทุกภาคส่วนต่างดีใจที่มีองค์กรแกนกลางอย่างคณะกรรมการฯ ชุดนี้ของ สช. ที่เข้ามาประสานการทำงาน ระดมความคิดเห็น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหากับหน้างานที่เขารับผิดชอบอยู่ ภายใต้กฎหมายที่บางครั้งอาจไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างที่หน่วยงานคาดหวัง และยังพบอีกว่าภาคเอกชน หลายหน่วยงานเองก็มีศักยภาพ มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ตรวจสอบสภาพรถ คนขับ ด้วยระบบสมองกลอัจฉริยะ ซึ่งก็เป็นส่วนที่สามารถนำเข้ามาช่วยลดอุบัติเหตุและความเสียหายบนท้องถนนของประเทศไทยได้