ป.ป.ช.ชี้มูลนายก อบต.บึงกาสาม สมคบพวกทุจริตโครงการสร้างถนนเสริมเหล็ก เหตุไม่พบการเสริมเหล็กจริง-ฮั้วประมูลก่อสร้าง เผยคดีนี้มีผู้ถูกชี้มูลรวม 5 รายเจอความผิดวินัยร้ายแรง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 1 ต.ค. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ กรณี ป.ป.ช.ชี้มูลนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับพวก ว่ากระทำการทุจริต กรณีโครงการก่อสร้างถนน คอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) ซอย 3 หมู่ที่ 9 ตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เนื่องจากไม่มีการเสริมเหล็ก และมีการฮั้วประมูลในการก่อสร้างถนน
โดยการประชุมเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้ว มีมติว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 92
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล จังหวัดปทุมธานี เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 25 มกราคม 2545 ข้อ 3 วรรคสาม และข้อ 6 วรรคสอง
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล จังหวัดปทุมธานี เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 25 มกราคม 2545 ข้อ 3 วรรคสาม และข้อ 6 วรรคสอง
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 และ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 มีเจตนาร่วมกระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไปสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจดำเนินการไต่สวนต่อไปได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 57 จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัย ไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย แล้วแต่กรณีและส่งสำนวนการไต่สวน และเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป และให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบด้วย