‘กรมสรรพสามิต’ เสนอ ‘ครม.’ พิจารณาจัดเก็บ ‘ภาษีคาร์บอน’ ยืนยันไม่กระทบราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ เผย 11 เดือน จัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้ 4.82 แสนล้าน เพิ่มจากปีก่อน 10.66% สูงกว่าเป้าจัดเก็บฯ 1.06%
......................................
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯได้เสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ให้ รมว.คลัง พิจารณาแล้ว โดยล่าสุดได้รับทราบว่า รมว.คลัง ได้ลงนามเพื่อเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ซึ่งก็ต้องรอว่าจะมีการบรรจุเรื่องนี้เข้าวาระการประชุมของ ครม. เมื่อใด อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีคาร์บอนดังกล่าวจะไม่กระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมัน
นายเอกนิติ ระบุว่า สำหรับการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในระยะแรกนั้น จะครอบคลุมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าในพิกัดสรรพสามิต ได้แก่ เบนซิน ,แก๊สโซฮอล์ E10 ,แก๊สโซฮอล์ E20 ,แก๊สโซฮอล์ E85 ,น้ำมันก๊าด ,น้ำมัน JET ,ดีเซล B5 ,ดีเซล B10 ,ก๊าซ LPG และน้ำมันเตา โดยยังไม่ครอบคลุมเชื้อเพลิงถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ส่วนการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในระยะต่อไป จะต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …หรือ พ.ร.บ.โลกร้อน
“ตามมาตรฐานโลก UNFCCC เขาจะบอกว่าน้ำมันแต่ละประเภทปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ ใครที่เก็บ Carbon Tax ทั้งโลกจะใช้มาตรฐานเดียวกันว่า เบนซินปล่อยเท่าไหร่ น้ำมันเตาปล่อยเท่าไหร่ และ LPG ปล่อยเท่าไหร่ แล้วเอาค่าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าตัวนั้นๆ มาคูณด้วยราคาคาร์บอนที่กำหนดโดยรัฐบาล โดยสิงคโปร์เป็นชาติแรกในอาเซียนที่เก็บ Carbon Tax เริ่มที่ 5 เหรียญสิงคโปร์ แล้ววันนี้ขยับไปเก็บที่ 25 เหรียญสิงคโปร์
ส่วนประเทศไทย เราจะเริ่มเก็บที่ต่ำๆก่อน เพื่อให้ประชาชนปรับตัว เราถึงตั้งเป้าไว้ที่ 200 บาท/ตันคาร์บอน หรือประมาณ 3-4 เหรียญสหรัฐ และเราจะเป็นประเทศที่สองในอาเซียนที่มี Carbon Tax เช่น เบนซิน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.002% คูณกับ 200 บาท/ตันคอร์บอน จะอยู่ที่ 45 สตางค์เอง ซึ่งถูกมาก แล้วถามว่าราคาจะแพงขึ้นหรือไม่ ท่านรัฐมนตรีก็ให้นโยบายมาแล้วว่า ราคาจะไม่แพงขึ้น
ยกตัวอย่าง เช่น น้ำมันดีเซล วันนี้เสียภาษีสรรพสามิต 6.44 บาท/ลิตร ซึ่งน้ำมันดีเซลจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.0026 ตันคาร์บอน เมื่อคูณด้วย 200 บาท/ตันคอร์บอน จะเท่ากับ 52 สตางค์ ซึ่ง 52 สตางค์นั้น จะรวมในภาษีสรรพสามิตน้ำมันอยู่แล้ว ราคาน้ำมันจะไม่ถูกกระทบเลย และเราจะไปจับมือกับปั๊มน้ำมันเพื่อรายงานว่า คุณปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ และจะมีมาตรการจูงใจให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร” นายเอกนิติ กล่าว
นายเอกนิติ กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีคาร์บอนดังกล่าว ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยุโรป เนื่องจากในปี 2569 ยุโรปจะจัดเก็บภาษีคอร์บอนข้ามพรมแดน (EU-CBAM) หากไทยมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนแล้ว ก็สามารถนำภาษีที่ถูกเก็บในประเทศไทยแล้ว ซึ่งอยู่ในรูปของใบเสร็จ ไปหักลบกับภาษีคาร์บอน หรือ EU-CBAM ที่ยุโรปจะเริ่มเก็บในเดือน ม.ค.2569 ได้ นอกจากนี้ ในปี 2572 ไทยจะมีการเปิดตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (TH-ETS) ด้วย
นายเอกนิติ ระบุด้วยว่า กรมฯได้จัดทำมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีรถยนต์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะนำเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป
นายเอกนิติ กล่าวถึงมาตรการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า ได้แก่ มาตรการ EV 3 และมาตรการ EV 3.5 ว่า ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 2 โครงการ รวม 32 ราย ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขของมาตรการฯที่กำหนดผู้เข้าร่วมโครงการฯต้องผลิตรถยนต์ EV ที่ประเทศไทย ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และต้องผลิตชิ้นส่วนฯที่ประเทศไทย ทำให้ขณะนี้มีการลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์ EV คิดเป็นมูลค่า 8 หมื่นล้านบาท และการลงทุนชิ้นส่วนฯก็เริ่มเข้ามาแล้ว
นายเอกนิติ กล่าวว่า ในช่วง 11 เดือนของปีงบ 2567 (ต.ค.66-ส.ค.2567) กรมฯจัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 4.82 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 10.66% และสูงกว่าเป้าหมายคณะทำงานฯที่ได้ปรับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ได้แก่ การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) คิดเป็น 1.06% และคาดว่าทั้งปีงบ 2567 กรมฯจะจัดเก็บภาษีได้ 5.23 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 9.64% และสูงกว่าเป้าหมายฯ 0.6%
“เศรษฐกิจไทยโต 2-3% เราเก็บภาษีได้สูงกว่าปีก่อนแล้ว 10.66% ส่วนเป้าที่ให้มา หักลบภาษีน้ำมัน ภาษีอีวีแล้ว เราสูงกว่าเป้า 1% กว่า” นายเอกนิติ กล่าว