ปปง.ยึดอายัดทรัพย์ได้ 911,960 บาท คดี ‘กาญจนา ไข่แก้ว’ สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูนกับพวก ร่วมทำเอกสารเท็จหลอกกู้เงิน หลังคกก.หลงเชื่ออนุมัติ จัดการแก้ไขข้อมูลโอนเข้าบัญชีตัวเอง 463 รายการรถยนต์ เงินฝาก ทอง เพชร เครื่องประดับ วัตถุมงคล มูลค่า 911,960.94 บาท
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.154/2567 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2567 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รายนางกาญจนา ไข่แก้ว กับพวก เป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ฐานได้ร่วมกันทำเอกสารการยื่นคำร้องขอกู้เงินฉุกเฉินจากสมาชิกสหกรณ์ เพื่อหลอกให้คณะกรรมการเงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน จำกัด หลงเชื่อว่ามีสมาชิกสหกรณ์ขอยื่นกู้เงินฉุกเฉินและขอกู้เงินสวัสดิการ เมื่อคณะกรรมการเงินกู้สหกรณ์ฯ หลงเชื่อพิจารณาอนุมัติ ผู้ต้องหาได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงข้อมูลในเอกสารที่เกี่ยวกับการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารผู้กู้แต่ละราย โดยเปลี่ยนแปลงข้อมูลเลขบัญชีเงินฝากธนาคาร การโอนเงินกู้ดังกล่าว ให้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ต้องหา ต่อมามีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรนิคมอุตสาหกรรม และพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา 5 ราย
ทรัพย์สินที่ ปปง.มีคำสั่งยึดและอายัด นางกาญจนา ไข่แก้ว กับพวก จำนวน 463 รายการ ประกอบด้วย ประเภทรถยนต์ เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร สังหาริมทรัพย์ประเภท ทองรูปพรรณ เพชร เครื่องประดับ กำไล นาฬิกา แหวน สร้อยคอ ต่างหู เครื่องแต่งกาย หมวก ผ้าพันคอ กางเกงยีน รองเท้า วัตถุมงคล และอื่นๆ รวมมูลค่า 911,960.94 บาท พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2567 ถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2567
@เปิดรายละเอียดที่มาของคดี
คำสั่งคณะกรรมการธุรกรร ที่ ย.154/2567 มีรายละเอียดดังนี้
ด้วยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้รับรายงาน จากสถานีตำรวจภูธรนิคมอุตสาหกรรม ตามหนังสือที ดช.0020.10.16 (ลพ)/1460 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เรื่อง รายงานเหตุตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กล่าวคือ
นางกาญจนา ไข่แก้ว ผู้ต้องหาที่ 1 นางสาวจันทรชา โชติกลาง ผู้ต้องหาที่ 2 และนางจารุวรรณ อินต๊ะธรรม ผู้ต้องหาที่ 3 เป็นลูกจ้างสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน จำกัด ได้ร่วมกันทำเอกสาร การยื่นคำร้องขอกู้เงินฉุกเฉินจากสมาชิกสหกรณ์ เพื่อหลอกให้คณะกรรมการเงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน จำกัด หลงเชื่อว่ามีสมาชิกสหกรณ์ขอยื่นกู้เงินฉุกเฉินและขอกู้เงินสวัสดิการ เมื่อคณะกรรมการเงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน จำกัด หลงเชื่อพิจารณาอนุมัติ ผู้ต้องหาทั้ง 3 ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงข้อมูลในเอกสารที่เกี่ยวกับการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารผู้กู้แต่ละราย โดยเปลี่ยนแปลงข้อมูลเลขบัญชีเงินฝากธนาคาร การโอนเงินกู้ดังกล่าว ให้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ของผู้ต้องหาทั้ง 3 โดยผู้ต้องหาได้ร่วมกันกระทำความผิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ต่างกรรมต่างวาระ จึงก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน จำกัด เป็นจำนวนมาก ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดลำพูน ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานใหม่ และพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานใหม่ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว โดยพบผู้กระทำความผิดเพิ่มเติม คือ นางอังคณา ขันธโชค ผู้ต้องหาที่ 4 และนางจินตนา คำพรหม ผู้ต้องหาที่ 5
@ ตร.สั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 5 ฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง และร่วมกันปลอมเอกสาร เอกสารสิทธิ และใช้เอกสาร เอกสารสิทธิปลอม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 91 มาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 268 มาตรา 335 (7) และ (11) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 โดยพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้เป็น คดีอาญาที่ 126/2566 อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางกาญจนาไข่แก้ว กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
@ตรวจสอบถือครองทรัพย์สิน 463 รายการ
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 11/2566 ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 739/2566 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รายคดี นางกาญจนา ไข่แก้ว กับพวก และในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 10/2567 ในวันที่ 6 สิงหาคม 2567 เพิ่มความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 3 (14) และมาตรา 5 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับ การทำธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้วปรากฏหลักฐาน เป็นที่เชื่อได้ว่านางกาญจนา ไข่แก้ว กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะ เป็นปกติธุระ การลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดฐานฟอกเงิน 3 (14) มาตรา 3 (18) และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิด ฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏว่า บุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทำความผิด จำนวน 463 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ในคดีนี้ ประกอบด้วย สังหาริมทรัพย์ประเภทรถยนต์ อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฎหลักฐานในทางทะเบียน ในการควบคุมการเสียภาษีหรือการเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวโดยผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครอง อาจดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้โดยง่าย สังหาริมทรัพย์ ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอนยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้ง่าย และสังหาริมทรัพย์ประเภท ทองรูปพรรณ เพชร เครื่องประดับ กำไล นาฬิกา แหวน สร้อยคอ ต่างหู เครื่องแต่งกาย หมวก ผ้าพันคอ กางเกงยีน รองเท้า วัตถุมงคล และอื่นๆ อันเป็นทรัพย์สินที่ไม่ปรากฏหลักฐาน ในทางทะเบียน โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองสามารถโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิ ในทรัพย์สินดำเนินการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมา ศาลได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สำนักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าว กลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางกาญจนา ไข่แก้ว กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทำความผิด และอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 10/2567 ในวันที่ 6 สิงหาคม 2567 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดำเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 463 รายการ พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2567 ถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฏ ตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคำสั่งนี้