แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เซ็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งคกก.อำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม - ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยฯ เปิด 6 ข้อสั่งการแรก เร่งฟื้นฟูเยียวยา-ซ่อมแซมบ้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 312/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ‘คอส.’ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ‘ศปช.’ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นผู้อำนวนการศูนย์ โดยตำแหน่ง
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า วันที่ 16 กันยายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร เป็นประธานการประชุม คอส.นัดแรก โดยกล่าวว่า อยากให้การเยียวยาเป็นไปอย่างเร่งด่วนและตรงกับจุด เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมากกว่านั้น จำนวนวันที่เสียหาย เช่น อำเภอแม่สาย มีอุทกภัย 3 วัน ซึ่งดูน้อย แต่ความเสียหายมากกว่านั้นเยอะ
“ถ้าเราตัดสินกันที่จำนวนวันจะไม่พอดีกับความเสียหายที่เกิดขึ้นอันหนักหน่วงตรงนี้ จึงเห็นว่ากรอบการค่าชดเชย ต้องมีการพิจารณาทบทวน โดยอาจใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ เช่น กระแสน้ำที่มาสร้างความเป็นธรรม ซึ่งให้ ศปช. พิจารณา แนวทางการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้ง สำนักนายกรัฐมนตรี รวมพิจารณารายละเอียดด้วย”น.ส.แพทองธารกล่าว
น.ส.แพทองธารเน้นระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า และการซักซ้อม โดยเฉพาะระบบ Cell Broadcast Service (CBS) หรือระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน เพื่อให้การเตือนภัยมีผลดีและถึงประชาชนโดยตรงเพื่อให้การทำงานช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างทันท่วงที และได้สั่งการต่อที่ประชุม ดังนี้
1.ขอให้ ศปช.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้และหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นฉุกเฉินให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที
2.ในคณะ คอส. ให้มีการประชุมติดตามงานเป็นระยะ ๆ จนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ
3. ขอให้ ศปช. ประเมินสถานการณ์และกำหนดการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตาม สั่งการ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้ทันที และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
4.ขอให้สำนักนายกรัฐมนตรีเร่งรัดมาตรการฟื้นฟูเยียวยา โดยกำหนดกรอบระยะเวลาให้ชัดเจนและเสนอ คอส. เพื่อทราบลำดับถัดไป รวมถึงการเยียวยาขอให้ครอบคลุมถึงกลุ่มชาติพันธุ์
5.เรื่องดินโคลนถล่ม กรมทรัพยากรธรณีต้องมีการชี้จุดที่ชัดเจน และมีการซักซ้อมอย่างจริงจังในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีภัยดังกล่าว
6.ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการประชาสัมพันธ์การรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ทราบเพื่อเตรียมการตามที่มีการแจ้งเตือน และขอให้กองทัพร่วมกับกรมอาชีวศึกษาระดมกำลังเข้าไปช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนของประชาชน รวมถึงอาคารสถานที่ราชการโดยเร็ว