ครม.เห็นชอบ 7 แนวทางปฏิบัติรักษาความลับประชุม ‘ครม.แพทองธาร’ ระบุการพิจารณา ‘ข้อหารือ-การอภิปราย' ของ ครม.ให้ถือเป็น ‘ความลับของทางราชการ’ เตือน 'รัฐมนตรี-ผู้เข้าร่วมการประชุม' ต้องพึงระวัง-ไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ
................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. รับทราบแนวทางการประชุมคณะรัฐมนตรีและการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเห็นชอบแนวทางปฏิบัติในการรักษาความลับทางราชการเกี่ยวกับการประชุม ครม. และการให้ข่าวสารแก่สื่อมวลชน ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ
สำหรับแนวทางปฏิบัติในการรักษาความลับทางราชการเกี่ยวกับการประชุม ครม. และการให้ข่าวสารแก่สื่อมวลชน ที่ ครม.เห็นชอบ ประกอบด้วย 7 ข้อ ได้แก่
1.ให้รักษาความลับหรือเอกสารของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรี ตามประเภทชั้นความลับที่ได้กำหนดไว้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 โดยแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ลับที่สุด ลับมาก และลับ ซึ่งหากความลับดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนรั่วไหลไปถึงบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ได้ทราบ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งรัฐ
ดังนั้น กรณีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี หรือรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวตามเงื่อนไขที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหนดตามนัยมาตรา 20 (1) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
2.การพิจารณาหารือหรืออภิปรายของคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีให้ถือเป็นความลับของทางราชการ ดังนั้น รัฐมนตรีทุกท่าน ผู้เข้าร่วมการประชุม และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรี พึงระมัดระวังและไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับเรื่องที่พิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
3.ในการจัดทำระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี หากหน่วยงานเจ้าของเรื่องเห็นว่าเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่มีชั้นความลับ มีความอ่อนไหว และมีผลกระทบสูงเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ ความมั่นคง ประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ของประเทศชาติ หากถูกนำไปเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของชาติอย่างร้ายแรง
ให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องระบุไว้ในหนังสือนำส่งเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีให้ชัดเจนว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีชั้นความลับ มีความอ่อนไหว และมีผลกระทบสูงอย่างไร หรือหากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องที่เข้าลักษณะดังกล่าว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะจัดทำระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยจะแจกเอกสารระหว่างการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในระบบ M-VARA และหลังจากพิจารณาแล้วเสร็จ จะถอนเรื่องดังกล่าวออกจากระบบ M-VARA ทันที
4.ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ดูแลและระมัดระวังมิให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเอกสารการประชุมคณะรัฐมนตรีเปิดเผยเอกสารดังกล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี
5.กรณีมีผู้นำเอกสารหรือข้อความ ซึ่งเป็นความลับของทางราชการไปเผยแพร่จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องที่ได้รับความเสียหายพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด (เช่น กรณีข้าราชการพลเรือนฝ่าฝืนข้อปฏิบัติและถือเป็นผู้กระทำผิดวินัยหรือกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง)
อนึ่ง ตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2564 ได้วางหลักเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมในเรื่องการรักษาความลับของทางราชการไว้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ ตามข้อ 7 (3) กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ โดยอย่างน้อยต้องไม่นำข้อมูลข่าวสารอันเป็นความลับของทางราชการซึ่งตนได้มาในระหว่างอยู่ในตำแหน่งไปใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เอกชนทั้งในระหว่างการดำรงตำแหน่งและเมื่อพ้นจากตำแหน่ง และข้อ 8 (5) กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องรักษาความลับของราชการ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย
6.เรื่องใดที่มีผลกระทบต่อประชาชนหรือประเทศชาติโดยส่วนรวม เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติแล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องที่รับผิดชอบ เป็นหน่วยงานหลักชี้แจงต่อสาธารณชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงเพิ่มเติมให้เป็นใปในทิศทางเดียวกัน กรณีเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ หรืออนุมัติตามมติของคณะกรรมการต่างๆ แล้ว ให้ประธานกรรมการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการชี้แจงในทำนองเดียวกันด้วย
7.ให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่และอำนาจในการให้ข่าวสารเกี่ยวกับการประชุมคณะรัฐมนตรี มติคณะรัฐมนตรี การดำเนินงานของคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือกระทรวง กรม ตลอดจนชี้แจงเมื่อปรากฏว่ามีการเสนอข่าวคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง หรือไม่ถูกต้อง ครบถ้วน อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคลากรหรือรัฐบาล หรือการปฏิบัติผิดพลาดได้ ทั้งนี้ อาจขอให้โฆษกกระทรวงเป็นผู้แถลงข่าวหรือออกคำชี้แจงเอง หรือร่วมกันแถลงข่าว หรือชี้แจงด้วยก็ได้
รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนการกำหนดวิธีการประชุม ครม. นั้น นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติตามที่ สลค. เสนอ เช่น การจัดประชุมครม.อย่างเป็นทางการกรณีปกติทุกวันอังคารตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล แต่อาจเปลี่ยนแปลงวัน เวลา และสถานที่ได้ตามที่นายกฯกำหนด โดยการประชุม ครม.ในกรณีปกติให้ดำเนินการได้เมื่อมีรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนรัฐมนตรีทั้งหมดที่มีอยู่
ส่วนผู้ที่เข้าร่วมประชุม ครม. ประกอบด้วย 1.ข้าราชการการเมือง ได้แก่ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2.ข้าราชการประจำระดับสูง ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นๆตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
ขณะที่ฝ่ายเลขานุการ ประกอบด้วย เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ,รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ตามที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมอบหมาย) ปฏิบัติหน้าที่ในการนำเสนอระเบียบวาระการประชุม ครม. ร่วมกับเลขาธิการ ครม. และเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ตามที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมอบหมาย)
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางปฏิบัติในการรักษาความลับทางราชการเกี่ยวกับการประชุม ครม. และการให้ข่าวสารแก่สื่อมวลชน ที่ ครม.ของ น.ส.แพทองธาร ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2567 นั้น เป็นแนวปฏิบัติเดียวกับที่ ครม.ชุดที่แล้ว คือ ครม.ของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการรักษาความลับทางราชการเกี่ยวกับการประชุม ครม. ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2566 (อ่านเอกสารประกอบ)