NGO สิ่งแวดล้อม จี้ทางการหลายประเทศสกัดเรือ 2 ลำบรรทุกขยะอันตรายรวม 816 ตัน ต้นทางจากแอลเบเนีย ปลายทางที่ประเทศไทย เผยพฤติการณ์ปิดระบบแจ้งเตือนจีพีเอส-ไม่เทียบท่าที่แอฟริกาใต้ ขณะมูลนิธิบูรณะนิเวศจี้รัฐบาลไทย-แอฟริกาใต้ดำเนินการหยุดการค้าขยะพิษทันที ขณะปลัด ทส.แจงให้กรมควบคุมมลพิษประสานกรมศุลกากรตรวจสอบ เผยตอนนี้กรมโรงงานฯประสานท่าเรือสิงคโปร์ผลักดันเรือกลับต้นทาง หลังทราบตอนนี้เรืออยู่น่านน้ำสิงคโปร์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวกรณีเรือคอนเทนเนอร์บรรจุสารพิษหายระหว่างเดินทางมายังประเทศไทยว่าเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา เครือข่าย Basel Action Network (BAN) ซึ่งองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรด้านสิ่งแวดล้อมจากสหรัฐอเมริกาได้ออกมาเรียกร้องให้มีการดำเนินการยึดและส่งคืนเรือคอนเทนเนอร์สองลําที่ต้องสงสัยว่าขนส่งสารพิษอันตรายอย่างผิดกฎหมาย
BAN ระบุว่าสัญญาณอันตรายเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. เมื่อเรือคอนเทนเนอร์ชื่อว่า MAERSK CAMPTON หรือเมอร์สก์ แคมป์ตันได้มีการปิดระบบระบุตัวตนอัตโนมัติ (Automatic Identification System:AIS) ซึ่งจะส่งการแจ้งเตือนตำแหน่งจีพีเอส อีกทั้งเรือยังไม่ได้เทียบท่าตามกำหนดที่เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ในวันที่ 1 ส.ค.
เรือเมอร์สก์ แคมป์ตันเป็นเรือที่มีต้นทางมาจากประเทศแอลเบเนีย และมีจุดหมายปลายทางคือที่ประเทศไทย โดยเรือลำนี้บรรทุกสินค้าน้ำหนักรวม 327 ตัน ซึ่ง BAN คาดว่าสินค้าเหล่านี้ได้แก่ ฝุ่นโลหะหนักที่เป็นพิษ ซึ่งผ่านกระบวนการใช้เตาหลอมเหล็ก โดยรวบรวมได้จากตัวกรองควบคุมมลพิษ
นายจิม บัคเก็ตต์ (Jim Buckett) ผู้อํานวยการบริหารของ BAN ให้ความเห็นว่า "เราไม่สามารถจินตนาการถึงเหตุผลอื่นใดสําหรับพฤติกรรมนี้นอกจากความพยายามของบริษัท MAERSK เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมหรือความล่าช้าเนื่องจากความเป็นไปได้ที่เรือของพวกเขาจะเกี่ยวข้องกับลักลอบขนของที่เป็นอันตราย
BAN ยังได้ระบุถึงตัวตนของเรือคอนเทนเนอร์ลำที่สองที่น่าจะขนส่งสินค้าอันตรายด้วยเช่นกัน โดยเรือลำนี้ชื่อว่า MAERSK CANDOR หรือเมอร์สก์ แคนดอร์ เป็นเรือที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่คาดว่าจะมีขยะพิษจำนวน 60 ตู้ มีการปิดระบบแจ้งเตือนและอาศัยเส้นทางเดินเรือเส้นทางเดียวกับเรือเมอร์สก์ แคมป์ตัน และมีการประเมินกันว่าปริมาณขยะอันตรายที่อยู่บนเรือทั้งสองลำคืออยู่ที่ 816 เมตริกตัน
BAN ยืนยันว่าทั้งหน่วยงานที่ประเทศแอลเบเนียและที่ประเทศไทยไม่ได้รับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับการส่งออกขยะอันตรายในครั้งนี้ หรือก็คือการขนส่งขยะอันตรายนี้ไม่ได้รับอนุมัติทั้งจากประเทศที่ส่งออกและประเทศที่นำเข้า ซึ่งการกระทำนี้ผิดต่ออนุสัญญาบาเซิล ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่จํากัดการเคลื่อนย้ายขยะที่เป็นอันตรายระหว่างประเทศ
BAN ได้แจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่ประเทศแอฟริกาใต้และที่ประเทศไทยแล้วเพื่อให้พยายามสกัดกั้นเรือทั้งสองลำ และ BAN ยังได้ประสานไปยังองค์กรสิ่งแวดล้อมอื่นๆในทั้งสองประเทศเพื่อให้ช่วยเหลือในกรณีนี้ได้แก่องค์กรที่ชื่อว่า Friends of the Earth ที่ประเทศแอฟริกาใต้และมูลนิธิบูรณะนิเวศหรือว่า EARTH ที่ประเทศไทย
ทางด้านของนายมูซา ชาแมน นักรณรงค์ด้านการจัดการขยะที่ Friends of the Earth กล่าวเรียกร้องว่าเราขอให้เรือลำนี้และเรือลำต่อไปถูกสกัดกั้น และมีการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีประเทศหรือว่ามหาสมุทรใดจะได้รับความเสี่ยงจากการถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะอันตราย ซึ่งถ้าหากเรือเหล่านี้ถูกตรวจสอบพบว่าขนส่งขยะที่เป็นพิษ มันก็ต้องถูกส่งคืนไปยังผู้ส่งมันออกมา โดยผู้ส่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง และขอย้ำว่าเรือเหล่านี้ไม่ควรได้รับอนุญาตให้อยู่ทั้งในแอฟริกาใต้และในประเทศไทย
ทั้งนี้มีรายงานว่ามีการเรียกร้องไปยังบริษัทสายการเดินเรือเมอร์สก์เพื่อให้หยุดการขนส่งและคืนเรือทั้งสองลำกลับไปที่แอลเบเนีย
นายจิม บัคเก็ตต์กล่าวเสริมว่า “เราเรียกร้องให้สายการเดินเรือ MAERSK ให้ความร่วมมือทันทีในการช่วยเหลือประชาคมระหว่างประเทศในการป้องกันการทิ้งขยะอันตรายอย่างผิดกฎหมาย"
BAN ยังได้ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยว่าถ้าเรือคอนเทนเนอร์ทั้งสองมาถึงประเทศไทย ฝุ่นพิษอาจจะกระจายไปยังพื้นที่เกษตรกรรมหรือมันอาจถูกทิ้งในประเทศได้ ซึ่งข้อมูลจากมูลนิธิบูรณะนิเวศระบุว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการร้องเรียนเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการทิ้งขยะพิษที่ไม่ถูกต้องส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง
ทางด้านของน.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้งผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวว่าไม่ว่าในกรณีใด ๆ ประเทศไทยจะไม่ยอมรับการเป็นแหล่งทิ้งขยะอุตสาหกรรมที่เป็นพิษ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือขยะพลาสติกที่เหลือของโลก และขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลแอฟริกาใต้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อหยุดยั้งการค้าที่เป็นอันตรายดังกล่าวนี้
เรียบเรียงจาก:https://resource.co/article/ngos-warn-illegal-waste-export-europe-asia
ขณะที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า ยังไม่ได้ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวอย่างไรก็ตามได้แจ้ง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้ประสานงานกับกรมศุลกากรแล้ว
ต่อมานายจตุพรได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมระบุว่าได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่า ทางกรมโรงงาน อุตสาหกรรม (กรอ.) ในฐานะหน่วยงานอนุญาตตามอนุสัญญาบาเซล ได้แจ้งไปยังท่าเรือสิงคโปร์ว่า ไทยไม่อนุญาตให้นำเข้า "ฝุ่นแดง" ให้ผลักกลับไปต้นทาง ณ ขณะนี้ เรืออยู่ในน่านน้ำสิงคโปร์ และ ทางกรมโรงงานฯได้เฝ้าระวังอยู่อย่างต่อเนื่อง