‘ธปท.’ แจงปรับปรุง 3 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ยืนยันคงอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำฯ ‘บัตรเครดิต’ 8% ไม่กระทบลูกหนี้ส่วนใหญ่ พร้อมคาด ‘แบงก์’ จ่ายเครดิตเงินคืน 1 พันล้าน จูงใจลูกหนี้จ่ายขั้นต่ำฯ
................................................
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Media Briefing เรื่อง การปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ว่า การจูงใจให้ลูกหนี้บัตรเครดิตผ่อนชำระขั้นต่ำ (minimum payment) ที่ 8% โดยได้รับเครดิตเงินคืน 0.5% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 และ 0.25% ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 นั้น จะทำให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้จ่ายเครดิตเงินคืนให้กับลูกหนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาทใน 1 ปี
ขณะเดียวกัน การที่ ธปท. คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำฯไว้ที่ 8% จะไม่มีผลกระทบต่อลูกหนี้ส่วนใหญ่ และยังทำให้ลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยลงลง อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาลูกหนี้ได้ปรับพฤติกรรมการชำระหนี้ในส่วนนี้แล้ว
“ในขณะที่หนี้ครัวเรือนเรายังสูง ถ้าคนส่วนใหญ่ยังจ่ายขั้นต่ำที่ 8% ได้ หากเราไปหย่อนตรงนี้ลง ก็จะมีความเสี่ยงว่าคนกลุ่มนี้จะไหลไปจ่ายน้อยลง ทั้งๆที่เราดูแล้ว จะเห็นว่าคนได้ปรับพฤติกรรมแล้ว จากเดิมที่ก่อนออกประกาศฯแบงก์ชาติ คนที่จ่ายขั้นต่ำฯที่ 8% มี 3% แต่ตอนเดือน มี.ค.2567 คนที่จ่ายขั้นต่ำเกิน 8% เพิ่มขึ้นเป็น 14% แปลว่าคนสามารถจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านบัตรเครดิตได้ดีขึ้น” นายสมชาย กล่าว
ด้าน น.ส.เขมวันต์ ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน (ธปท.) กล่าวว่า สาเหตุที่ ธปท. ต้องผ่อนปรนอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต โดยคงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำฯไว้ที่ 8% อีก 1 ปี หรือจนถึงสิ้นปี 2568 จากเดิมที่ต้องปรับขึ้นอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำฯเป็น 10% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 นั้น เนื่องจากยังมีลูกหนี้บางกลุ่มที่ยังมีความเปราะบาง ในขณะที่ลูกหนี้หลายกลุ่มยังคงมีศักยภาพในการจ่ายขั้นต่ำฯที่ 8% ได้
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการจูงใจให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพให้ผ่อนชำระขั้นต่ำฯที่ 8% ธปท. จึงกำหนดให้มีเครดิตเงินคืนสำหรับลูกหนี้ที่ผ่อนจ่ายฯได้มากกว่าหรือเท่ากับ 8% โดยจะให้เครดิตเงินคืนเทียบเท่าการลดดอกเบี้ย 0.5% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 และจะให้เครดิตเงินคืนเทียบเท่าการลดดอกเบี้ย 0.25% ในครึ่งปีหลังของปี 2568 โดยจ่ายทุกๆ 3 เดือน ทั้งนี้ การให้เครดิตเงินคืนดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 เพราะต้องให้เวลาสถาบันการเงินปรับตัว
สำหรับลูกหนี้ที่ผ่อนชำระขั้นต่ำฯได้ 5% แต่ไม่ถึง 8% ลูกหนี้กลุ่มนี้จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ โดยการเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิต (Revolving) ไปเป็นสินเชื่อระยะยาว หรือ term loan และมีโอกาสคงวงเงินส่วนที่เหลือในบัตรเครดิตได้ จากเดิมที่ต้องปิดวงเงินทันทีหลังปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนลูกหนี้กลุ่มที่ผ่อนชำระขั้นต่ำได้น้อยกว่า 5% ลูกหนี้กลุ่มนี้จะได้รับการปรับสร้างหนี้ โดยเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตไปเป็นสินเชื่อระยาว และหากเป็น NPL ก็สามารถเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ได้
“ถ้าเป็นหนี้ 30,000 บาท ถ้าคนมีเงินพอที่จะจ่าย ก็จะเลือกจ่ายขั้นต่ำที่ 10% เพราะแม้ว่าค่างวดต่อเดือนจะสูงกว่าอันอื่น แต่ภาระจ่ายโดยรวมจะต่ำกว่าอันอื่น และปิดหนี้ได้เร็วกว่า แต่ถ้าเป็นลูกหนี้เปราะบางที่ยังจ่ายขั้นต่ำฯ 10% ไม่ได้ และเลือกจ่ายขั้นต่ำฯที่ 5% เพราะรายได้ยังไม่กลับ ก็จะเห็นว่างวดต่อเดือนน้อย แต่ภาระโดยรวมจะอยู่ที่ 40,523 บาท เทียบกับหนี้ที่มี 30,000 บาท และจะต้องแบกหนี้ไปถึง 8 ปี
ถามว่าเราจะไปที่จุดไหน ซึ่งเมื่อเราดูทั้งหมดแล้ว คนที่ยังเปราะบางก็มีอยู่ แต่ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางนี้ ควรมีวิธีอื่นในการดูแล มากกว่าจะให้เขาแบกหนี้ 4 หมื่นกว่า และลากหนี้ไป 8 ปี เราจึงขอคง min pay เอาไว้ที่ 8% เป็นการบาลานซ์ภาพทั้งหมด คือ ถ้าลูกหนี้มีความสามารถที่จะจ่าย 8% เราก็อยากให้จ่าย โดยมีการให้เครดิตเงินคืน ใน 6 เดือนแรกจะลดดอกเบี้ย 0.5% และในช่วง 6 เดือนถัดไป จะได้ลดดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งลูกหนี้ส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์ตรงนี้
ส่วนลูกหนี้ที่จ่ายขั้นต่ำฯไม่ถึง 8% ก็มีอยู่ แต่ไม่เยอะมาก ถ้าเขาไม่มีศักยภาพในการจ่าย สิ่งที่เขาควรจะได้รับการดูแล คือ ลูกหนี้จะต้องได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเราจะเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ และมีสภาพคล่องเพียงพอ โดยกลุ่มที่จ่ายขั้นต่ำ 8% ไม่ไหว แต่จ่ายได้เกิน 5% กลุ่มนี้จะเอามาปรับโครงสร้างหนี้ โดยเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิต หรือ Revolving ไปเป็นสินเชื่อระยะยาว หรือ term loan และเรายังให้คงวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือได้
ในขณะที่กลุ่มลูกหนี้จ่ายต่ำกว่า 5% เขาก็ปรับโครงสร้างหนี้ได้เหมือนกัน โดยเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตไปเป็น term loan แต่ถ้าไม่ไหวอีก ก็ให้เดินไปหาหมอหนี้ได้ และเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ ถ้าเป็น NPL อันนี้เป็นภาพที่เราดูแลลูกหนี้แต่ละกลุ่มตามความสามารถ และปัญหาของเขา โดยเฉพาะการให้ลูกหนี้ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ จะทำให้ภาระดอกเบี้ยโดยรวมลดลง และลูกหนี้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้น” น.ส.เขมวันต์ กล่าว
น.ส.เขมวันต์ กล่าวว่า ในส่วนมาตรการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อย (Debt Consolidation) นั้น แม้ว่าไม่ใช่มาตรการใหม่ แต่ในครั้งนี้ ธปท.ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์ เพื่อสนับสนุนการรวมหนี้ให้คล่องตัวและบรรเทาภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ได้ คือ หากรวมหนี้ที่อยู่อาศัยกับสินเชื่อรายย่อยอื่นๆแล้ว ทำให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (loan-to-value ratio) เกิน 100% ธปท.จะผ่อนปรนในส่วนนี้ให้ โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในปี 2568
นอกจากนี้ ลูกหนี้มีโอกาสคงวงเงินสินเชื่อรายย่อยส่วนที่เหลือหลังจากการรวมหนี้ด้วย เพื่อให้ลูกหนี้ยังสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันได้
ขณะที่ น.ส.อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า สำหรับการปรับปรุงมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) นั้น ธปท. ได้ขยายระยะเวลาการปิดจบหนี้จากภายใน 5 ปี เป็น 7 ปี และคงอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่าเดิม เพื่อให้ค่างวดที่ลูกหนี้ต้องชำระปรับลดลง
ทั้งนี้ ลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินสินเชื่อส่วนที่เหลือ (revolving) เพื่อให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องไว้เผื่อในสถานการณ์ฉุกเฉินได้
“หลักการของมาตรการยังเหมือนเดิม แต่เมื่อเราติดตามยอด พบว่ายอดที่เกิดขึ้นมันน้อยเกินไป ตอนนี้ยอดที่มาปรับสัญญาให้เป็นไปตามมาตรการแก้หนี้เรื้อรังมีประมาณ 1-2% เท่านั้น เราก็คุยกับเจ้าหนี้และลูกหนี้ แล้วคิดว่าอะไร คือ ปัญหา และทำการปรับปรุงมาตรการให้ความช่วยเหลือฯ” น.ส.อรมนต์ กล่าว
น.ส.อรมนต์ ระบุด้วยว่า ณ ไตรมาส 1/2567 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 90.8% แยกเป็น หนี้บ้าน 34% ,สินเชื่อส่วนบุคคล 25% ,เพื่อประกอบอาชีพ 18% ,รถยนต์ 11% ,หนี้บัตรเครดิต 3% และอื่นๆ 9% โดยตั้งแต่ 1 ม.ค.2567 ธปท.ได้ประกาศมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และเร่งรัดให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ โดยข้อมูลล่าสุด ณ เดือน เม.ย.2567 มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือ 8.2 แสนบัญชี หรือ 2.3 แสนล้านบาท
“ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มีการช่วยเหลือลูกหนี้ 8.2 แสนบัญชี หรือคิดเป็น 2.3 แสนล้านบาท และถ้าหากไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ หนี้อันนี้จะกลายเป็น NPL หรือถ้าหากเขาเป็น NPL แล้ว ไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ เขาก็จะเป็น NPL ต่อไป แล้วถ้าเอายอดนี้ตรงนี้ ไปเทียบกับ NPL ที่เพิ่มขึ้น จะเท่ากับ 5.3 เท่าของ SM และ NPL ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ 85% ของการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมด เป็น pre-emptive (การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน)” น.ส.อรมนต์ ระบุ
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’คงอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ‘บัตรเครดิต’ 8% ถึงสิ้นปี 68-ยืดเวลาปิดจบหนี้เรื้อรัง 7 ปี