ปลัดกระทรวงเกษตรฯ สั่งให้กรมประมงตรวจสอบการนำเข้าปลาหมอคางดำ-สาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรง ขีดเส้นรายงานผลใน 7 วัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากสถานการณ์การแพร่กระจายของปลาหมอคางดำในประเทศไทยมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลต่อระบบนิเวศและการประกอบอาชีพของชาวประมงอย่างหนัก
โดย ปลาหมอคางดำ ถูกระบุว่าเป็น 'เอเลียนสปีชีส์' ที่สามารถขยายพันธุ์ได้ทุก ๆ 22 วัน จึงเป็นสาเหตุที่ปลาชนิดนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2567 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่หลายจังหวัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนรอบด้าน โดยในเบื้องต้นที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 2/2567 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ.2567-2568 ภายใต้กรอบ 5 มาตรการ 12 กิจกรรม ระยะเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ถึงเดือนกันยายน 2568 และมาตรการระยะเร่งด่วนในการเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยรับซื้อในราคา 15 บาท/กิโลกรัม
นอกจากนี้ ยังเตรียมมาตรการการควบคุม และกำจัดปลาหมอคางดำ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำปลาที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์ รวมถึงสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่ยังไม่พบการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการแก้ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งตรวจสอบสาเหตุการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนอย่างเร่งด่วน และเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป
“กระทรวงเกษตรฯสั่งการให้กรมประมงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเข้าปลาหมอคางดำที่ผ่านมาและสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง โดยให้รายงานผลการตรวจสอบเพื่อนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบภายใน 7 วัน และเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะกลาง ระยะยาว โดยขณะนี้ นอกจากการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ.2567-2568 แล้ว ในวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคมนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ ณ จุดรับซื้อจริง ในจังหวัดสมุทรสาครอีกด้วย” นายประยูรกล่าว
ทั้งนี้ นายประยูร ได้ออกหนังสือสั่งการให้กรมประมงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเข้าปลาหมอคางดำที่ผ่านมา ระบุว่า
ตามที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งประเด็นข้อเท็จจริงในแหล่งที่มาและสาเหตุที่ที่ทำให้เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเกษตรกรชาวประมงและความเชื่อมั่นในกระบวนการการทำงางานของกรมประมง นั้น
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมอบหมายให้กรมประมงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
เกี่ยวกับการนำเข้าปลาหมอคางดำที่ผ่านมาและสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรง และรายงานผล การตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบภายใน 7 วัน