บช.ก.มีมติส่งสำนวนคดี 'ศรีสุวรรณ-เจ๋ง ดอกจิก' ตบทรัพย์อธิบดีกรมการข้าวให้อัยการฯปราบทุจริตแล้ว เผยมีรายละเอียดสำนวน พยาน หลักฐาน 11 แฟ้ม รวมเอกสาร 4,490 แผ่น ขณะ 5 ผู้ต้องหาเจอ 6 คดีทุจริต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รองผู้บังคับการปราบปราม (รองผบก.ป.) กล่าวว่า คณะพนักงานสอบสวน บช.ก. ที่ 45/2567 ลงวันที่ 31 มกราคม 2567 เรื่องคดีทุจริตระหว่าง นายนัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ผู้กล่าวหา กับกลุ่มผูัต้องหารวม 5 คน เกี่ยวกับกรณีเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมีการเรียกรับทรัพย์สิน รวมทั้งผลประโยชน์อื่นๆ ได้สรุปสำนวนการสอบสวน และได้มอบหมายให้มอบหมายให้ พ.ต.ท.ภูริต ศรีบุญเรือง สารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 1 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พงส.กก.1 บก.ปปป.) ในฐานะเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวน และผู้ช่วยเลขานุการนำสำนวนทั้งหมดไปเสนอต่อ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
รายละเอียดประกอบไปด้วย สำนวนการสอบสวน พร้อมพยานหลักฐานรวม 11 แฟ้ม จำนวน 4,490 แผ่น
สำหรับคดีนี้ นายนัฏฐกิตติ์ ได้กล่าวหา นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก กับพวก รวม 5 คน ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปปป. เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 ระบุว่า วันที่ 20 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2567 ต่อเนื่องกัน ได้ถูกกลุ่มผู้ต้องหาเรียกเอาทรัพย์สินโดยทุจริตต่อหน้าที่ เหตุเกิดที่ รัฐสภา เขตตุสิต, กรมการข้าว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ และที่ ตำบลลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย เป็นเงินจำนวน 1.5 ล้านบาท ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. นำโดย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผบช.ก. ได้จับกุมตัวผู้ต้องหาไว้ได้ และได้นำตัวกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 5 คน มาสอบสวน และแจ้งข้อที่ บก.ปปป. ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. จนถึง 15 ก.พ.ที่ผ่านมาต่อเนื่องกัน
สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 5 คนนั้นประกอบด้วย นายยศวริศ ชูกล่อม อายุ 65 ปี ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกดำเนินคดีรวม 6 ข้อหา ประกอบด้วย 1.เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งโดยมิชอบ
เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด มาตรา 172, 2.เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดโดยมิชอบด้วยหน้าที่ มาตรา 173, 3. ร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทน โดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายอันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด มาตรา 175, 4.ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ มาตรา 337, 5. ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตน หรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน
โดยขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย มาตรา 338 (ร่วมกันรีดเอาทรัพย์) และ มาตรา 337 และ 6.ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตราย โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป มาตรา 309 วรรคสอง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172, 173 , 175 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337, 338, 309 วรรคสอง, ประกอบมาตรา 83, 86
ส่วน นายศรีสุวรรณ จรรยา อายุ 55 ปี ผู้ต้องหาที่ 2, นางสาวพิมณัฏฐาจิระพุทธิภาคย์ อายุ 34 ปี ผู้ต้องหาที่ 3, นายเอกลักษณ์ วารีชล อายุ 47 ปี ผู้ต้องหาที่ 4 และ นางสาวณพัชญ์ปภา จรรยา อายุ 43 ปี ผู้ต้องหาที่ 5 ถูกดำเนินคดีเหมือนกันรวม 6 ข้อหา
ประกอบด้วย 1. ร่วมกันสนับสนุน เจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่ง หรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจ ในตำแหน่งโดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 172,
2. ร่วมกันสนับสนุน เจ้าพนักงานของรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่มาตรา 173
3. ร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน โดยวิธีอันทุจริต มาตรา 175
4. ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และชื่อเสียง มาตรา 337
5. ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมหรือยอมให้ตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าเปิดเผยความลับ มาตรา 338
และ 6. ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป มาตรา 309 วรรคสอง
ด้าน นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า วันนี้ (16 ก.ค.) พนักงานสอบสวน กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ได้นำสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งห้า โดยนายยศวริศ ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกเห็นควรสั่งฟ้องเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งโดยมิชอบข้อหาร่วมกันกรรโชกทรัพย์ฯเเละข้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ส่วนผู้ต้องหาอีก4 รายโดนฐานร่วมกันสนับสนุนฯกรรโชกทรัพย์เเละมีข้อหาอื่นประกอบ โดยเมื่อได้รับสำนวน นายสุรพันธ์ กิจพ่อค้า อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตได้มีคำสั่งนายรชต พนมวัน อัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 เป็นผู้พิจารณาสำนวน
“คดีนี้ผู้ต้องหาทุกคนได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน วันนี้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนความเห็นมาส่งยังพนักงานอัยการ ซึ่งพอรับสำนวนไว้ อัยการก็อนุญาตให้ประกันตัวต่อ เเต่การปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 113 นั้น ระยะเวลาที่พนักงานสอบสวนอนุญาตให้ประกัน จะต้องไม่เกิน 6 เดือนนับตั้งเเต่วันถูกจับ
กฎหมายบอกว่า หากเกิน 6 เดือนซึ่งจะครบวันที่ 26 ก.ค.นี้ อัยการยังไม่มีคำสั่ง หรือสั่งไม่การจะปล่อยชั่วคราวต่อไป จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีอัยการสำนักงานปราบปรามการทุจริตฯ หรือไม่เช่นนั้นจะต้องนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปยื่นคำร้องฝากขังต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 87 ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจอัยการว่าจะใช้วิธีใด
เมื่อเป็นเช่นนี้ทางอัยการสำนักงานปราบปรามการทุจริตฯ จึงได้นัดฟังคำสั่งผู้ต้องหาในวันที่ 25 ก.ค.นี้ ซึ่งในวันดังกล่าวอาจจะมีคำสั่งทางคดีได้ทันหรือไม่ก็ได้ เเต่ก็จะมีเรื่องพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการให้ประกันตัวว่าอธิบดีอัยการสำนักงานปราบปรามการทุจริตจะอนุญาตให้ประกันต่อ หรือจะให้พนักงานอัยการปราบปรามทุจริตฯ3เอาตัวผู้ต้องหาไปยื่นคำร้องฝากขังต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ” นายประยุทธกล่าว