ผู้เข้าร่วมเสวนา ‘สื่อสาร (ศาล) รัฐธรรมนูญสู่ประชาชน’ ส่วนใหญ่ชี้ ศาลรัฐธรรมนูญควรทำให้ประชาชนเข้าถึงง่ายกว่าเดิม-มีบรรทัดฐานการตัดสินชัดเจน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2567 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จัดงาน 'โครงการศาลรัฐธรรมนูญพบปะสื่อมวลชน ประจำปี พ.ศ. 2567' ภายในงานมีการแสดงปาฐกถาพิเศษ 'บทบาทของสื่อในสังคมข้อมูลข่าวสาร ยุคดิจิทัล' โดย นายนครินทร์ เมฆตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และเวทีเสวนา 'สื่อสาร (ศาล) รัฐธรรมนูญสู่ประชาชน'
นายนครินทร์ เมฆตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
นายนครินทร์ กล่าวปาฐกถาว่า สื่อสังคมข้อมูลข่าวสารยุคดิจิทัลค่อนข้างยุ่งเหยิง สื่อเป็นเครื่องมือของศาล ศาลต้องใช้สื่อเป็น แต่เราก็ถูกบีบโดยสื่อด้วยเช่นกัน ไม่ว่ารายงานสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งทางบวกและทางลบ
"ฉะนั้นข้อมูลข่าวสารในยุคดิจิทัลมีหน้าตาอย่างไร สังคมไทยเป็นสังคมที่มีสิทธิและเสรีภาพอยู่พอสมควร และถือว่ามากทีเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน แต่ปัญหาคือสื่อในยุคดิจิทัลมีหน้าตาอย่างไร เพราะสื่อในยุคดิจิทัลหาคำนิยามได้ยาก" นายนครินทร์ กล่าว
นายนครินทร์ กล่าวว่า ตนเองจัดสื่อในปัจจุบันเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
1. สื่อที่มีเจ้าของ คือ องค์กรที่มีสื่อเป็นของตนเอง เช่น ศาลก็มีสื่อเป็นของตนเอง แต่ปัญหา คือ สื่อที่มีเจ้าของเปลี่ยนไป มีความหมายกว้างขึ้น ซึ่งโดยหลักควรเป็นสื่อขององค์กรที่มีการประสานงานติดต่อระหว่างสื่อมวลชน ซึ่งองค์กรเหล่านี้ปรับตัวยาก อีกทั้งลักษณะของสื่อประเภทนี้ยังขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยขององค์กรอีกด้วย เช่น ศาลที่ไม่ได้ไวต่อการแถลงข่าวต่าง ๆ เป็นต้น
2. สื่อที่ว่าจ้าง เช่น ศาลจัดงานวันเกิด ก็มีการจ้างสื่อ เพราะมีการมาเบิกค่าใช้จ่าย เป็นต้น ซึ่งเป็นเทคนิครูปแบบหนึ่ง โดยสื่อที่ว่าจ้างในโลกสมัยใหม่จะว่าจ้างด้วยการจ่ายเงิน ถ้าไม่จ่ายเงินจะได้ผลงานอีกแบบหนึ่ง ถ้าจ่ายเงินจะได้อีกแบบหนึ่ง มีความแตกต่างกัน ซึ่งการว่าจ้างเป็นกลไกการบริหารสื่อที่เลี่ยงไม่ได้
3. สื่อได้มาจากความไว้วางใจ หรือความเกลียดชัง เป็นสื่อที่น่าพึงประสงค์ที่สุด เนื่องจากถ้าคนเหล่านั้นไว้ใจองค์กรแล้วนำเสนอข่าวโดยที่หน่วยงานไม่ต้องจ้าง เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ตนเองคิดว่าสื่อที่ได้มาจากรูปแบบนี้ค่อนข้างน่าสนใจ
"ปัจจุบันอยู่ที่ไหนก็เขียนข่าวได้ขอแค่มีโทรศัพท์ เราเชื่อมต่อกันได้ง่าย แต่อย่าลืมว่าโลกดิจิทัลทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทำให้เกิด echo chamber ซึ่งเสียงก้องดังกล่าวทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย โลกดิจิทัลทำให้ติดต่อเข้าถึงกันง่าย แต่ก็ทำให้เกิกการแบ่งฝักฝ่ายได้ง่าย เมื่อมีการแบ่งฝักฝ่ายทำให้รับฟังฝั่งตรงข้ามได้น้อย เราจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ อยากฝากเรื่องนี้ไว้ด้วย" นายนครินทร์ กล่าว
นายนครินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จรรยาบรรณของสื่อในยุคดิจิทัลเป็นอีกเรื่องที่น่ากังวล เพราะจรรยาบรรณของสื่อในยุคดิจิทัล คือ จรรยาบรรณของปัญเจกบุคคล ซึ่งนำไปสู่การนำเสนอข่าวที่ไม่เป็นกลาง ควรมีการควบคุมในการนำเสนอข่าว โดยสื่อควรตักเตือนตนเองและมีผู้ใหญ่ในวงการคอยตักเตือน ปัญหาเหล่านี้ก็น่าจะดีขึ้น แต่ก็ไม่ควรควบคุมโดยเบ็ดเสร็จ เพราะเราเป็นสังคมประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการควบคุมโดยสิ้นเชิง ควรทำอย่างพอเหมาะพอดี
ต่อมาเป็นการเสวนา 'สื่อสาร (ศาล) รัฐธรรมนูญสู่ประชาชน'
นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ก่อนที่จะมีศาลรัฐธรรมนูญ นั้น มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ วันหนึ่งมีการหารือที่พัทยา สิ่งที่ได้ฟังจากกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญในตอนนั้น ทราบว่าจะมีศาลใหม่ 3 ศาล ได้แก่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง ถ้าไม่มีศาลแยกเหล่านี้ การดำเนินคดีต่าง ๆ จะใช้เวลานาน ส่วนศาลรัฐธรรมนูญในประเทศไทยมีไว้เพื่อดูว่าเรื่องราวต่าง ๆ ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงการสั่งยุบพรรคการเมือง ซึ่งทำให้ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย โดยที่ศาลก็ทำอะไรไม่ได้ ตนเองจึงแนะนำว่าให้เผยแพร่คำวินิจฉัยผ่านเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ แต่ก็ขอแนะนำว่าควรใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย เพื่อไม่ให้ความหมายที่ต้องการสื่อสารเกิดความคลาดเลื่อน
"โลกเปลี่ยนไป กระบวนการถามหาความยุติธรรมจะมีมากขึ้น ทำไมต้องมี 3 ศาล ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ก็เพื่อให้มีโอกาสแสวงหาความยุติธรรมได้มากขึ้น เข้าใจว่าต่อไปอาจมีการเรียกร้องให้โอกาสกับคนที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิด มวลมนุษยชาติจะถามหาความยุติธรรมมากกว่าเดิม ซึ่งโป้งเดียวจอด (คำวินิจฉัยที่ชี้ว่าผิดแล้วถูกตัดสิทธิ์เลย) ก็มีได้แต่ควรสมเหตุสมผล" นายสุภาพ กล่าว
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวว่า เมื่อมีศาลรัฐธรรมนูญ ช่วงที่มีการตัดสินคดีเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สินของนายทักษิณ ชินวัตร และนายประยุทธ์ มหากิจศิริ ที่มีความผิดในคดีเดียวกันแต่คนหนึ่งไม่ผิดแต่อีกคนผิด ซึ่งช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีนายทักษิณในช่วงนั้นแทบเกิดการจลาจล และก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ตัดสินกลับไปกลับมา เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีการแยกหมวดศาล โดยศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในหมวด 10 ส่วนองค์กรอิสระ เช่น ศาลต่าง ๆ อยู่ที่หมวด 11 ไม่ได้อยู่ในหมวดเดียวกับศาลอื่น แสดงว่ารัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันหลักในการทำหน้าที่ให้สมศักดิ์ศรีกับที่รัฐธรรมนูญมอบหมาย โดยมอบคำอธิบายหรือคำวินิจฉัยที่ทำให้คนเข้าใจ เพื่อให้ตรวจสอบว่ามีความชอบธรรมและสมเหตุสมผลหรือไม่ และสามารถตรวจสอบได้
อีกทั้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันหลัก จะต้องวางหลักในการยุบพรรคการเมืองต่าง ๆ เพราะพรรคการเมืองเป็นการรวมตัวของเจตจำนงทางการเมือง
"ยกตัวอย่างคำตัดสินคดีที่มาของเงินพรรคการเมือง ที่ผมไม่เห็นด้วย คือกรณีที่ เงินที่กู้มาเป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผิดถึงขั้นต้องยุบพรรค ซึ่งเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายควรเป็นเงินที่ผิดกฎหมาย ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง เช่น เงินจากการค้ายาเสพติด เป็นต้น ทั้งนี้การวางหลักในการยุบพรรคควรทำให้ยากที่สุด" นายประสงค์ กล่าว
นายประสงค์ กล่าวว่า สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญควรทำ คือ ทำ social listening เพื่อให้รับรู้คำวิจารณ์ต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กร ควรทำเว็บไซต์หน้าแรกของศาลรัฐธรรมนูญควรเป็นคลังข้อมูลคำวินิจฉัยคดีต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม ควรเผยแพร่ข่าวหรือคำวินิจฉัยต่าง ๆ ในรูปแบบไฟล์ .docx ไม่ควรเผยแพร่ข่าวด้วยไฟล์ pdf เพราะทำให้ยากต่อการเผยแพร่ข่าวสาร ควรเพิ่มคำอธิบายในการวินิจฉัยคดีต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจได้ตรงกันทุกคน ไม่มีการตีความคลาดเคลื่อน เหล่านี้จะช่วยลดการวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญได้ส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้นายประสงค์ยังกล่าวถึงปัญหาที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ต้องผ่านการพิจารณาโดยสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เมื่อมามองที่การคัดเลือกสว. ก็พบว่ามาจากการคัดเลือกโดยทหาร (สว.ชุดเก่า) อีกทั้งการเลือกสว.ชุดใหม่ที่ยังมีความเกี่ยวพันกับฝ่ายการเมือง เหล่านี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่น้อย
นายมงคล บางประภา ผู้สื่อข่าวอาวุโส สำนักข่าวบางกอกโพสต์ กล่าวว่า ประเด็นหัวใจหลักที่ผู้เสวนาส่วนใหญ่ต้องการ คือ อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดกว้างสู่สาธารณะมากกว่าเดิม จากการสังเกตสื่อมวลชนที่มาในวันนี้แสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับศาลรัฐธรรมนูญ เวทีศาลรัฐธรรมนูญพบปะสื่อมวลชนนั้นทำได้ง่าย แต่เวทีสื่อมวลชนอยากพบปะศาลรัฐธรรมนูญนั้นทำได้ยาก ดังนั้นการพบปะระหว่างศาลกับสื่อมวลชนต้องมีการร่วมกันออกแบบรูปแบบการพบปะเพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม แม้จะยังมีความคลุมเครือในการตีความสื่อมวลชนและสื่อบุคคลก็ตาม
"เสนอให้การสื่อสารของศาลรัฐธรรมนูญควรวางบทบาทให้เปิดกว้างสู่สาธารณะกว่าเดิม เพราะการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง การที่ไม่เปิดเผยข้อมูลในการวินิจฉัยทั้งหมด อาจเป็นช่องโหว่ที่คู่กรณีเสียเปรียบนำคำวินิจฉัยไปบิดเบือนได้" นายมงคล กล่าว
รศ.ดร. เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย กล่าวว่า ก่อนจะวิพากษ์ศาลรัฐธรรมนูญควรเข้าใจหลักการของศาลก่อน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกีฬา ศาลรัฐธรรมนูญเป็นกรรมการ มีกรรมการน้อยมากที่จะอธิบายกติกา เช่น กีฬาฟุตบอลนักฟุตบอลถอดเสื้อ กรรมการแจกใบเหลืองทันที แต่กรรมการไม่อธิบายเหตุผล ให้ไปเปิดกติกาดูเอง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญยังมีรัฐธรรมนูญเป็นกรอบ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ทำหน้าที่ไปตามปกติ แต่หน้าที่ในการอธิบายการวินิจฉัยต่าง ๆ ควรเป็นสื่อ โดยเชิญนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญมาอธิบายเพิ่มเติม หรือทำเป็นข่าวเจาะ ซึ่งสื่อลักษณะนี้ในสังคมมีน้อยลงทุกวัน
"คนทำหน้าที่กรรมการ ไม่ควรมาเถียงกับนักกีฬา ถ้าคุณเป็นนักการเมืองถ้ามีคำถามก็ให้หัวหน้าพรรคส่งหนังสือมา ไม่ใช่มาตั้งโต๊ะแถลงข่าว" รศ.ดร. เจษฎ์ กล่าว
หมายเหตุ : ภาพปกข่าวจาก Live the room 44