เครือข่ายฯ 24 องค์กร กาง 10 จุดอ่อนของร่าง พ.ร.บ.โลกร้อนฉบับรัฐบาล-พรรคการเมือง พร้อมเปิดตัวร่างกฎหมายโลกเดือดฉบับประชาชน เตรียมล่า 1 หมื่นรายชื่อเสนอเข้าสภาฯพิจารณา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 เครือข่ายประชาชนเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ 24 องค์กร เปิดตัวร่างกฎหมายโลกเดือดฉบับประชาชน หรือ 'ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน (ฉบับประชาชน)' โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดเจตนารมณ์ให้ประเทศไทยต้องปกป้องวิกฤติโลกร้อนและรักษาธรรมชาติ มีหลักคุ้มครองสิทธิประชาชนต่อสภาพภูมิอากาศที่ดี แต่ร่างของประชาชน กำหนดหลักสิทธิไว้ถึง 13 ประเภท ครอบคลุมสิทธิทุกกลุ่มประชาชนที่เปราะบาง และสิทธิในเนื้อหาและกระบวนการ และกำหนดหน้าที่รัฐให้คุ้มครองสิทธิทั้งหมด
นอกจากนี้ ร่างฯ ของประชาชน เน้นการกระจายอำนาจ มีกลไกตรวจสอบ โดยมีคณะกรรมการนโยบายที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีคณะกรรมการกำกับกึ่งอิสระ เพื่อตรวจสอบให้รัฐดำเนินตามเป้าหมาย และมีสมัชชาประชาสังคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งประชาชน และสร้างการมีส่วนร่วมนโยบายทุกระดับ อันทำให้เกิดธรรมาภิบาล
เครือข่ายฯ ยังได้มีการชี้จุดอ่อน 10 ข้อของร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับรัฐบาลที่ร่างโดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งของพรรคการเมืองต่าง ๆ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของพรรคก้าวไกล ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต ของพรรคพลังประชารัฐ มีรายละเอียดที่สําคัญดังนี้
-
ร่าง พรบ. ของรัฐบาลไม่ได้มีเจตจํานงค์ห่วงใยปกป้องโลกจากวิกฤติครั้งใหญ่ แต่มุ่งเพียงส่งเสริมธุรกิจรายใหญ่สู่เศรษฐกิจการค้าคาร์บอนตํ่าระหว่างประเทศ แต่ร่างฯ ของประชาชนกําหนดเจตนารมณ์ให้ประเทศไทยต้องปกป้องวิกฤติโลกร้อนและรักษาธรรมชาติ คุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น ในฐานะผู้มีบทบาทรักษาระบบนิเวศเพื่อสร้างสมดุลทางสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสําคัญ
-
ทุกร่างนิยาม “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ไว้อย่างคลุมเครือ แต่ร่างของประชาชนนิยามให้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีสาเหตุจากพลังงานฟอสซิลเป็นสาเหตุหลักเพื่อกําหนดเป้าหมายการจัดการให้ชัดเจน (มาตรา 4)
-
ร่าง พรบ. ส่วนใหญ่ ยกเว้นร่างฯ พรรคก้าวไกล ไม่มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน และสอดคล้องกับข้อเสนอของ IPCC แต่ร่างของประชาชนกําหนดเป้าหมายชัดเจน คาร์บอนเป็นกลางในปี 2035 (มาตรา 16 (10)) และก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ ในปี 2050 (มาตรา 16 (11)) และสามารถทบทวนให้เร็วขึ้นได้กว่าแผนเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่รัฐเสนอต่อสหประชาชาติ
-
ร่าง พรบ. เกือบทั้งหมดยกเว้นพรรคก้าวไกล ไม่มีหลักคุ้มครองสิทธิประชาชนต่อสภาพภูมิอากาศที่ดี แต่ร่างของประชาชนกําหนดหลักสิทธิไว้ถึง 13 ประเภท ครอบคลุมสิทธิทุกกลุ่มประชาชนที่เปราะบาง และสิทธิในเนื้อหาและกระบวนการ และกําหนดหน้าที่รัฐให้คุ้มครองสิทธิทั้งหมด
-
ทุกร่างฯ ยังใช้ระบบโครงสร้างรวมศูนย์ที่กลไกราชการ แต่ร่างของประชาชนกระจายอํานาจมีกลไกตรวจสอบโดยมีคณะกรรมการนโยบายที่ประชาชนมีส่วนร่วม (มาตรา 12) มีคณะกรรมการกํากับกึ่งอิสระ (มาตรา 43) เพื่อตรวจสอบให้รัฐดําเนินตามเป้าหมายและมีสมัชชาประชาสังคม (มาตรา 21) เพื่อสร้างความเข้มแข็งประชาชนและสร้างการมีส่วนร่วมนโยบายทุกระดับอันทําให้เกิดธรรมาภิบาล
-
ทุกร่างฯ ใช้คาร์บอนเครดิตเป็นแรงจูงใจกลุ่มทุนในการปรับตัวโดยเอาแรงจูงใจมาลดทอนความรับผิดชอบในการลดคาร์บอน แต่ร่างของประชาชนแยกแรงจูงใจกับความรับผิดชอบออกจากกัน สร้างแรงจูงใจให้กับประชาชน ธุรกิจรายย่อยที่ช่วยลดโลกร้อนช่วยสังคมปรับตัวไม่ต้องเสียภาษีคาร์บอน
-
ทุกร่างฯ ยังใช้หลักกลไกตลาดคาร์บอนที่จัดการสิทธิในคาร์บอนทั้งที่เสี่ยงต่อการฟอกเขียว และผลักภาระสู่ประชาชนและธรรมชาติ แต่ร่างของประชาชนใช้ระบบภาษีคาร์บอนจัดการเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิลเป็นหลัก (มาตรา 80-82) เพื่อไม่ให้เกิดการฟอกเขียว ไม่ให้เกิดการเอาธรรมชาติและประชาชนมาสร้างคาร์บอนเครดิตให้กลุ่มทุนไปชดเชยโดยไม่ปรับตัว
-
ทุกร่างฯ มุ่งแต่จัดการคาร์บอนฯ แต่ละเลยการจัดการก๊าซมีเทนที่มีผลกระทบร้ายแรงกว่า ที่มักจะเข้าใจว่าปลดปล่อยจากภาคเกษตรเป็นหลัก แต่ละเลยการปลดปล่อยมีเทนจากภาคอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น ก๊าซฟอสซิล แต่สําหรับร่างของประชาชนจะกําหนดภาษีที่จะใช้ควบคุมการปลอยก๊าซมีเทนจากภาคอุตสาหกรรมไว้ด้วย
-
ทุกร่างฯ มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์สาธารณะกับผลประโยชน์ทางการค้าของผู้ปล่อยคาร์บอน แต่ร่างของประชาชนมุ่งเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซของภาคส่วนต่าง ๆ ยึดหลักระวังไว้ก่อน (มาตรา 58) และหลักสิทธิประชาชนต่อสภาพภูมิอากาศ
-
ทุกร่างฯ แม้มีกองทุน แต่ไม่จัดลําดับความสําคัญ แต่ร่างของประชาชนจะมีกองทุนเปลี่ยนผ่านสีเขียวที่ได้จากภาษีคาร์บอน มาจัดสรรเพื่อแก้ไข เยียวยาผลกระทบ ส่งเสริมการปรับตัวของประชาชนกลุ่มเปราะเบาไม่ตํ่ากว่าร้อยละ 50 ของกองทุน (มาตรา 85)”
สำหรับขั้นตอนต่อไป เครือข่ายฯ จะเปิดให้ผู้ที่เห็นด้วยร่วมลงชื่อให้ครบ 10,000 รายชื่อ และเตรียมยื่นเสนอต่อรัฐสภาฯ ในเร็ววันนี้
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change Act ฉบับรัฐบาล ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไประหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ – 27 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมหน่วยงานรับผิดชอบเปิดเผยว่า คาดว่าจะเสนอร่างฯ เข้าสู่การพิจารณาและอนุมัติของคณะรัฐมนตรีภายในกลางปีนี้ (2567)