กกต.โต้ ‘พิธา-ก้าวไกล’ ชี้มีอำนาจยื่นยุบพรรคจากกฎหมาย ‘พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และระเบียบการไต่สวนของ กกต. ยกคำวินจฉัยศาลรัฐธรรมนูญชี้ชัดวัเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ‘ชัยธวัช’ โต้ อย่าตีความกม.แบบศรีธนญชัย การยุบพรรคการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ อย่าคิดว่าเคยยุบ ‘ไทยรักษาชาติ’ แล้วจะยุบ ‘ก้าวไกล’ มองยกคำวินิจฉัยศาลรธน.เป็นคนละประเด็น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 13 มิถุนายน 2567 หลังจากที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2567 โดยแถลงข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล 9 ข้อ ระบุศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจพิจารณาคดีกระบวนการของ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ให้โอกาสรับทราบข้อโต้แย้ง พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหาเป็นปฏิปักษ์
และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 67 มีคำสั่งให้ กกต. ในฐานะผู้ร้องในคดีอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567
ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย. 67 และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป กำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันอังคารที่ 18 มิ.ย. 67 นี้นั้น
- พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ : 9 ข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล กระบวนการ กกต.ไม่ชอบด้วยกม.
- ให้กกต.ยื่นหลักฐานเพิ่ม! ศาล รธน.นัดพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล 18 มิ.ย. 67
@กกต.:ยกคำวินิจฉัยศาลรธน. ‘ก้าวไกล’ มีพฤติการณ์ ‘ล้มล้างการปกครอง’
ล่าสุด นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวชี้แจงกรณีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้สั่งยุบพรรคก้าวไกล ว่า อยากทำความเข้าใจถึงเหตุผลต่อการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 31 ม.ค. 2567 ได้ระบุชัดเจนว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำวินิจฉัยนี้ทำให้ กกต.ไม่อาจจะทำอย่างอื่นได้ เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92(1) (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ถือว่า กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้แล้ว
“ถ้าขนาดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ใช่หลักฐานอันควรเชื่อถือได้ กกต.คงตอบกับสังคมยาก” นายปกรณ์ระบุ
นอกจากนี้ เหตุที่ต้องยื่น เพราะคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันกับ กกต.และมีผู้มาร้องเรียนในเรื่องนี้ กกต.จึงจำเป็นต้องยื่น ถ้า กกต.ไม่ยื่นคำร้องอาจจะมีความผิดตามกฎหมายได้ อีกทั้งการยื่นคำร้องในครั้งนี้เป็นไปตามตามมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงไม่มีเหตุที่จะต้องไต่สวน เพียงแต่ “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” ซึ่ง กกต.ปฏิบัติในลักษณะเดียวกันกับการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้มีคำวินิจฉันยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเมื่อ กกต. “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกร้องได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคของผู้ถูกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา”
นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า ขอทำความเข้าใจว่า การยื่นในครั้งนี้ยื่นตามมาตรา 92 ซึ่งระเบียบการไต่สวนของ กกต.มี 2 ฉบับ ฉบับแรก คือ ระเบียบ 2561 ใช้เป็นการทั่วไปใช้กับทุกกรณี หากพบว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต และต้องทำ หรือมีการร้องเรียนเข้ามา แต่กรณีที่หลายฝ่ายกล่าวอ้างว่าไม่เปิดให้ผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และแสดงพยานหลักฐานนั้น การดำเนินการตามมาตรา 93 เป็นกรณีความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่ามีการกระทำ เมื่อมีการกระทำ นายทะเบียนต้องรวบรวมพยานหลักฐาน แจ้งข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ก่อนเสนอความเห็นต่อกกต. ซึ่งมาตรา 93 ออกระเบียบไม่เกี่ยวกับมาตรา 92 ซึ่งทั้งสองมาตรามีความแตกต่างกัน
“มีคำถามมากว่าเห็นด้วยที่มีการยุบพรรคการเมืองหรือไม่ กกต. มีการพูดคุยกันมาก และตอบได้อย่างเดียวว่า กกต. ไม่สามารถตอบได้ กกต. เป็นผู้ปฏิบัติต้องเคารพตามกฎหมายและปฏิบัติตามกฏหมาย จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่ได้ แต่เมื่อใดมีผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย และแก้กฎหมาย เช่น ไม่มีการบัญญัติกฎหมายเรื่องยุบพรรคการเมือง กกต. แม้แต่จะคิดก็ยังไม่กล้าครับ นี่คือสิ่งที่เราทำตามกฏหมายและปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายทุกอย่าง บางครั้งอาจเข้าใจสับสนบ้าง แต่สิ่งที่เราอยากจะแถลงให้สื่อมวลชนพี่น้องประชาชนได้ทราบ ก็คือเราทำตามกฎหมายทุกอย่าง ผลจะเป็นอย่างไร เราเคารพและรับฟังปฏิบัติตามดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญเต็มที่” นายปกรณ์กล่าว
@คลิปประธาน กกต. ต้องดูให้ครบ
เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลส่งคลิปที่ประธาน กกต.ให้สัมภาษณ์ในทำนองยอมรับว่าการพิจารณาเรื่องยุบพรรคขัดต่อระเบียบและเป็นการข้ามขั้นตอน นายปกรณ์ กล่าวว่า สิ่งนี้จะต้องดูภาพรวมทั้งหมดของคำให้สัมภาษณ์ของแถลง ไม่ใช่ตัดเฉพาะบางส่วนออกมา และที่พรรคฯแย้งว่ากกต.ต้องปฏิบัติตามมาตรา 93 นายปกรณ์ กล่าวว่า เป็นความเห็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น ย้ำว่าการดำเนินการทั้งสองมาตราแตกต่างกัน
@ก้าวไกล: กกต.อย่าตีความกม.แบบศรีธนญชัย
ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายปกรณ์ ชี้แจงการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้มีการสั่งยุบพรรคก้าวไกล ว่า เข้าใจว่า กกต. กำลังจะบอกว่า การยุบพรรคการเมืองนั้น มี 2 ช่องทาง คือ 1.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ซึ่งก็เป็นเรื่องของ กกต. ที่หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ก็สามารถยื่นได้เลย โดยที่ไม่ต้องมีกระบวนการสอบสวน สามารถใช้ดุลยพินิจได้ตามอำเภอใจ ที่จะยื่นคำร้อง และ2.มาตรา 93 ซึ่งเป็นเรื่องของนายทะเบียน ไม่ได้เกี่ยวกับ กกต. หากมีความปรากฏว่า พรรคการเมืองกระทำผิดถึงขั้นยุบพรรค ก็ให้ไปสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงตามระเบียบที่ออกไว้
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า นี่คือสิ่งที่ กกต. กำลังสื่อสาร ซึ่งตนมองว่าเป็นปัญหา เพราะกระบวนการที่จะยื่นยุบพรรคการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงสืบสวนสอบสวนเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว “การอ่านกฎหมาย อย่าไปตีความแบบศรีธนญชัย กฎหมายเขียนลำดับไว้อย่างชัดเจน”
นายชัยธวัช ยืนยันว่า กกต.เอง เป็นคนบอกพรรคการเมืองมาโดยตลอด อย่างที่ตนได้อ้างเอกสารของ กกต. ในการอบรมพรรคการเมือง เขาไม่ได้บอกว่า การยุบพรรคตามมาตรา 92 ต้องดำเนินการตามมาตรา 93 ซึ่งตามระเบียบมีช่องทางเดียวเท่านั้น กกต. ไม่เคยอธิบายตรงไหนเลยมาก่อนว่า นอกจากช่องทางนี้แล้ว วันดีคืนดี กกต. เห็นว่าตัวเองมีหลักฐาน ก็สามารถยื่นคำร้องได้เลย โดยไม่มีกระบวนการสืบสวนสอบสวน เป็นไปได้หรือไม่
”เจ้าหน้าที่ตำรวจเจอคนขโมยของทำผิดซึ่งหน้า ยังต้องจับกุมไปดำเนินคดี เข้าสู่กระบวนการสอบสวนส่งอัยการ นี่ยุบพรรคการเมือง ไม่ใช่เล่นขายของ กกต.ยืนยันว่าทำได้ เพราะในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติได้ทำแบบนี้มาแล้ว ซึ่งคือไม่ได้ผ่านกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงตามมาตรา 93 และไม่ได้วินิจฉัยว่ากระบวนการคำร้องของ กกต. ชอบหรือไม่“ หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว
ขณะนั้น กกต. ยังไม่เคยมีการออกระเบียบสำหรับการยุบพรรคการเมืองโดยเฉพาะมาก่อน เลยอาจจะพอถูไถกันไปได้ เพราะคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่องกระบวนการคำร้องชอบหรือไม่ เกิดขึ้นหลังจากนั้น ซึ่งคือคดียุบพรรคอนาคตใหม่ โดยในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักการยุบพรรคตามมาตรา 92 ต้องทำประกอบกับมาตรา 93 และระเบียบของ กกต. เพียงแต่ ณ ขณะนั้น ระเบียบเก่าไม่ได้บังคับให้ กกต. รวบรวมข้อเท็จจริง และแจ้งให้กับพรรคผู้ถูกร้องทราบก่อน เพื่อให้มีการต่อสู้ชั้นต้นของ กกต.ก่อน แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ระเบียบที่ใช้ให้ไปใช้อีกระเบียบหนึ่งในการไต่สวนสอบสวนคดีอาญา โดยอนุโลม กกต. ให้ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบทุกข้อ มองว่า กกต. ชี้แจงแบบนี้ก็ไม่เป็นไร คงเป็นประเด็นที่ต้องไปต่อสู้กันในศาลรัฐธรรมนูญ
@คำวินิจฉัยศาลรธน. คนละประเด็น
ส่วนกรณีที่ กกต. ยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 31 ม.ค.2567 ได้ระบุชัดเจนว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้ กกต.ไม่อาจจะทำอย่างอื่นได้นั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า คนละเรื่อง นั่นคือเรื่องของพยานหลักฐาน การมีพยานหลักฐานที่ กกต.เชื่อแล้วว่าเพียงพอ ไม่ได้หมายความว่า กกต.ไม่จำเป็นต้องทำกระบวนการรวบรวมหลักฐานตามที่กฎหมายกำหนด อย่าสับสนระหว่าง กกต. เห็นว่า พยานหลักฐานมีน้ำหนักหรือไม่
”ที่ กกต. อ้างว่าคำวินิจฉัยที่แล้ว ผูกพัน ผมอยากถามว่า อะไรผูกพัน คำวินิจฉัยตามมาตรา 49 ในคำวินิจฉัย 3/2567 ผูกพันใคร นี่คือการวินิจฉัยสั่งการให้การกระทำ คือสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำสองการกระทำ คือเลิกแสดงความคิดเห็นและรณรงค์ให้ยกเลิก 112 และห้ามไม่ให้มีการแก้ไข 112 ด้วยกระบวนการนิติบัญญัติโดยมิชอบ นี่คือผลของคำวินิจฉัยที่ผูกพัน ซึ่งผูกพันกับคนที่ถูกร้อง“
เมื่อถามว่า หากพิสูจน์ทราบว่า กกต. ยื่นคำร้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายจริง จะมีการดำเนินคดีกับ กกต. อย่างไร นายชัยธวัช กล่าวว่า อย่าพึ่งพูดไป รอให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาก่อน