รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ปี 2024 ชี้ปัญหาไม่ได้จำกัดเฉพาะเด็ก-เยาวชนเท่านั้น การแก้เฉพาะจุดอาจไม่ผลสัมฤทธิ์ เพราะเปราะบาง-ซ้อนกันหลายชั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดยความร่วมมือระหว่างสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สำนัก 4 สสส.) กับศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank, 101 PUB) จัดงานเสวนาสาธารณะ “เด็กและครอบครัวไทยที่ไม่ถูกมองเห็น” เพื่อเผยแพร่รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2024 และร่วมหารือแนวนโยบายเพื่อให้เด็กไทยได้ถูกมองเห็น
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส. กล่าวว่า การเข้าถึงโอกาสอย่างไม่เท่าเทียมเป็นเรื่องที่เกิดมาอย่างยาวนาน ซึ่งหากรัฐเข้าไปแก้ปัญหานี้ได้เร็วเท่าไร สังคมก็ยิ่งได้รับประโยชน์มากขึ้น
การขยายตัวของเมืองเป็นการขยายโอกาสให้สังคมเพียงกลุ่มเล็กๆ ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ขาดยังขาดโอกาส อาทิ ในส่วนของภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเน้นไปที่การศึกษาของเด็กและเยาวชนที่กำลังจะเข้าไปเป็นแรงงาน แต่การศึกษาเช่นว่านั้นก็ยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และประกอบด้วยมิติเดียวคือการมุ่งเน้นไปที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีเพื่อก้าวเข้าสู่งานที่ดี
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สังคมไทยในปัจจุบันมีความต้องการที่หลากหลาย สังคมสูงวัยที่ต้องการกำลังคนที่มีศักยภาพมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม การส่งเสริมการเกิดต้องควบคู่กับการรับประกันคุณภาพชีวิตที่ดีและโอกาสที่เด็กจะได้พัฒนาศักยภาพตนเองอย่างเสมอหน้ากัน
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้ต้องทำไปพร้อมกันทุกระดับตั้งแต่การดูแลและสนับสนุนแบบปัจเจกไปจนถึงการปรับปรุงโครงสร้างทางสังคมและนโยบายสาธารณะอย่างรอบด้าน ทั้งในแง่มุมด้านสุขภาพ ความปลอดภัย การเรียนรู้ การศึกษา สวัสดิการต่างๆ เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสอย่างถ้วนหน้าไม่ว่าส่วนใดของสังคม
นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank และหัวหน้าโครงการศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว กล่าวถึงภารกิจสำคัญของคิด for คิดส์ ว่า “คิด for คิดส์มีภารกิจสำคัญในฐานะแหล่งผลิตงานวิชาการและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นแหล่งความรู้ของสังคมในการยกระดับระบบนิเวศการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้ได้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพภาพบนเส้นทางที่พวกเขาเลือกเอง”
จากการทำงานของคิด for คิดส์ ในปีที่ผ่านมาพบว่าเด็กและครอบครัวไทยมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่หลากหลาย ไม่ได้เป็นตามแบบแผนดังที่รัฐเห็น โดยอาจไม่ได้มีทรัพยากรที่ถึงพร้อม หรือครอบครัวที่ไม่พร้อมหน้า ขณะเดียวกันสถานรองรับของรัฐ กระทั่งระบบการศึกษายังไม่อาจดูแลเด็กแทนได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพเพียงพอ
ปัญหาของเด็กและเยาวชนข้างต้นไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงวัยทำงานที่ต้องรับภาระในการเลี้ยงดูมากขึ้น โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีทั้งเด็กและผู้สูงอายุในบ้านเดียวกัน และเมื่อสังคมไม่โอบรับปัญหาเหล่านี้ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก็ย่อมเป็นปัญหาสุขภาพจิต
จะเห็นว่าปัญหาของเด็กและเยาวชนไม่ได้จำกัดเฉพาะเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่เป็นความเปราะบางที่ซ้อนกันอยู่หลายชั้น การแก้ปัญหาแบบเฉพาะจุดอาจไม่ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้ตามที่หวัง ดังนั้น รัฐจึงต้องเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มช่องโหว่ รวมถึงเปิดพื้นที่ในการทำงานให้องค์กรอื่นๆ
นายวรดร เลิศรัตน์ และนายสรัช สินธุประมา นักวิจัยและบริหารการวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ได้นำเสนอรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2024 ของ คิด for คิดส์
นายวรดร และนายสรัชกล่าวว่า เด็กและครอบครัวไทยยังมีบางกลุ่มที่ไม่ถูกมองเห็นโดยรัฐ โดยรายงานฉบับนี้จะนำเสนอเด็กและเยาวชน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
-
เด็กและเยาวชนในครัวเรือนเกษตร ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาในเรื่องความไม่แน่นอนของรายได้ และถึงแม้ว่าครอบครัวเกษตรจะพยายามทำให้เด็กเป็นผู้รับผลสุดท้าย แต่ความไม่แน่นอนก็ยังส่งผลให้เด็กขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ดี รวมถึงมองว่าการศึกษาสูงไม่ใช่เรื่องจำเป็น ทำให้ไม่มีโอกาสเข้าถึงงานทักษะสูงและมีความฝันในอนาคตที่จำกัด
-
เด็กและเยาวชนจนเมือง ที่อยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโอกาส แต่มีต้นทุนแฝงที่ทำให้ไม่ได้โอกาสนั้น เด็กจนเมืองเข้าถึงการศึกษาระดับปฐมวัยน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ บั่นทอนโอกาสในระยะยาวความยากจนยังรวมถึงในด้านทุนทางสังคมที่กีดกันไม่ให้พวกเขาเลื่อนฐานะจากรุ่นพ่อแม่ได้
-
สามเณร เด็กและเยาวชนใต้ร่มกาสาวพัสตร์ที่เป็นแหล่งสะท้อนความเปราะบาง ทั้งในเรื่องความยากจนและครอบครัวแหว่งกลาง และไม่ตอบโจทย์พัฒนาการของเด็กจากการต้องครองตนใต้ผ้าเหลือง
-
เด็กและเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี 2020 ยังคงเผชิญกับการคุกคาม-ติดตามบ้านรวมถึงถูกคุมขังเพิ่มแม้ภายหลังการเลือกตั้งในปีที่ผ่านมา ตอกย้ำให้บาดแผลในครัวเรือนไม่อาจได้รับการเยียวยา