เผยมติ ป.ป.ช.เสียงเอกฉันท์ตีตกคดี 'ศิวฤทธิ์ รัศมีจันทร์' อดีตผอ.โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก แบ่งจ้างจัดซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตึกอุบัติเหตุฉุกเฉิน 5 ครั้ง หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏกระทำความผิดตามที่กล่าวหา ไม่มีมูล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา นายศิวฤทธิ์ รัศมีจันทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก กรณีจัดซื้อครุภัณฑ์ (เฟอร์นิเจอร์) ในตึกอุบัติเหตุและฉุกเฉินที่สร้างใหม่ ในช่วงปีงบประมาณ 2559-2560 ด้วยเงินบำรุงของโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก จำนวน 5 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 500,000 บาท อันมีลักษณะแบ่งซื้อแบ่งจ้าง
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏว่า นายศิวฤทธิ์ รัศมีจันทร์ ผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ดำเนินการจัดซื้อครุภัณฑ์ ประเภทเฟอร์นิเจอร์ ในช่วงปี พ.ศ. 2559-2560 ซึ่งจะต้องดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องแบ่งซื้อแบ่งจ้าง นั้น พยานจากสำนักงานคลังจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงระเบียบ กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ เป็นระยะเวลาประมาณ 27 ปี ให้การเป็นหลักในการพิจารณาว่า การแบ่งซื้อแบ่งจ้าง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้บัญญัติไว้ใน ข้อ 22 วรรคสอง "การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในครั้งเดียวกัน เพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด หรือเพื่อให้อำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนไป จะกระทำมิได้" โดยคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ได้มีแนววินิจฉัยวางหลักไว้ว่า การแบ่งซื้อแบ่งจ้าง หมายถึง การลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในครั้งเดียวกันออกเป็นหลายครั้ง หรือแบ่งเป็นส่วนๆ โดยไม่มีเหตุผลความจำเป็น และมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยง เพื่อเปลี่ยนวิธีจัดหาพัสดุ หรือเพื่อให้ผู้มีอำนาจสั่งซื้อ สั่งจ้าง เปลี่ยนไป ดังนั้น ในการจัดซื้อจัดจ้างแต่ละครั้ง หน่วยงานจะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามกรอบวัตถุประสงค์ของการได้รับการจัดสรรเงิน การจะพิจารณาว่าการจัดซื้อในแต่ละครั้งของโรงพยาบาลฯ ในช่วงเดือนมีนาคม 2559 - เมษายน 2560 จะเป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้างหรือไม่ ต้องพิจารณาว่า ผู้อำนวยการของโรงพยาบาลฯ ได้พิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินให้ซื้อในแต่ละครั้ง และมีการแบ่งวงเงินในแต่ละครั้งให้ลดลงเพื่อเปลี่ยนวิธีจัดหาพัสดุ หรือมีเจตนาให้ผู้มีอำนาจสั่งซื้อ สั่งจ้าง เปลี่ยนไป โดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็นหรือไม่
หากผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ พิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินให้ดำเนินการจัดซื้อพัสดุในครั้งใด ผู้ดำเนินการจัดหาจะแบ่งวงเงินในการจัดหาพัสดุในครั้งนั้นไม่ได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวหากผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ มีการอนุมัติให้ใช้เงิน จำนวน 5 ครั้ง ตามความจำเป็นที่ต้องการใช้พัสดุ และหากข้อเท็จจริงปรากฏว่าความต้องการใช้พัสดุ มีลักษณะของการทยอยซื้อตามความจำเป็นที่ต้องการใช้พัสดุ เนื่องจากไม่สามารถคาดหมายหรือคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ ประกอบกับการได้รับอนุมัติกรอบเงินไม่ได้มีการได้รับอนุมัติในครั้งเดียวกัน กรณีจึงไม่ใช่ลักษณะของการแบ่งซื้อแบ่งจ้างตามหลักการข้างต้น
จากการไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก มีการอนุมัติจัดซื้อครุภัณฑ์ จำนวน 5 ครั้ง ซึ่งการอนุมัติแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกัน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 จนถึงเดือนมีนาคม 2560 โดยอ้างเหตุตามความจำเป็นของแต่ละกลุ่มงานที่มีการย้ายเข้าไปปฏิบัติงานในอาคารอุบัติเหตุไม่พร้อมกันเนื่องด้วยข้อจำกัดเฉพาะของแต่ละกลุ่มงาน และการรอปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมกับกลุ่มงาน ซึ่งแต่ละกลุ่มงานจะต้องมีการวางแผนจัดเตรียมคนไข้ จัดเตรียมระบบงาน การขนย้ายเครื่องมือแพทย์ซึ่งเป็นเครื่องมือเฉพาะของแต่ละกลุ่มงานที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะของบริษัทเครื่องมือแพทย์มาทำการขนย้ายให้ โดยเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลฯ ไม่สามารถทำการขนย้ายเองได้ อีกทั้ง จะต้องมีการวางแผนให้สามารถเปิดบริการได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อคนไข้และการให้บริการให้น้อยที่สุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ได้อนุมัติจัดซื้อครุภัณฑ์ประเภทเฟอร์นิเจอร์ จำนวน 5 ครั้ง ตามที่แต่ละกลุ่มงานซึ่งย้ายเข้าไปปฏิบัติงานพร้อมกันในแต่ละครั้งมีการขออนุมัติจัดซื้อ
การอนุมัติแต่ละครั้งจึงมิใช่การอนุมัติจัดสรรในครั้งเดียวกัน ตามแนววินิจฉัยของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) และจากการไต่สวนไม่ปรากฏว่าหลังจากที่มีการอนุมัติในแต่ละครั้งแล้ว เจ้าหน้าที่พัสดุ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ได้ดำเนินการจัดหาพัสดุโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในครั้งเดียวกัน เพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนด หรือเพื่อให้อำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนไป อันจะเป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้างตามข้อ 22 วรรคสอง แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
อีกทั้ง เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นในการจัดซื้อแต่ละครั้งแล้ว เห็นว่าโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก มีความต้องการในการใช้งานพัสดุไม่พร้อมกัน ตามเหตุผลและความจำเป็นของแต่ละกลุ่มงาน การรอปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมกับกลุ่มงาน การวางแผนจัดเตรียมคนไข้ จัดเตรียมระบบงาน การขนย้ายเครื่องมือแพทย์ที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะของบริษัทเครื่องมือแพทย์มาทำการขนย้ายให้ และการย้ายจะต้องมีการวางแผนให้สามารถเปิดบริการได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อคนไข้และการให้บริการให้น้อยที่สุด จึงเห็นว่า โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก มีข้อจำกัดในการย้ายสถานที่ปฏิบัติงานจริงตามที่มีการกล่าวอ้าง ซึ่งไม่เหมือนการย้ายสำนักงานทั่วไปเหมือนกับหน่วยงานอื่นๆ และโรงพยาบาลฯ มีความต้องการใช้พัสดุไม่พร้อมกัน ตามแนวทางการพิจารณาเรื่องแบ่งซื้อแบ่งจ้าง ของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ที่ได้วางหลักไว้
สอดคล้องกับคำให้การของพยานจากสำนักงานคลังจังหวัดพิษณุโลก ที่ได้ให้การว่า หากผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ มีการอนุมัติให้ใช้เงิน จำนวน 5 ครั้ง ตามความจำเป็นที่ต้องการใช้พัสดุ และหากข้อเท็จจริงปรากฏว่าความต้องการใช้พัสดุ มีลักษณะของการทยอยซื้อตามความจำเป็นที่ต้องการใช้พัสดุ เนื่องจากไม่สามารถคาดหมายหรือคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ กรณีจึงไม่ใช่ลักษณะของการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง
ประกอบกับเมื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงทางการเงิน และเส้นทางการเงิน ระหว่างผู้ถูกกล่าวหา และผู้เสนอราคา ไปยังสำนักงาน ปปง. ก็ไม่พบความเชื่อมโยงทางการเงิน และเส้นทางการเงิน ระหว่างผู้ถูกกล่าวหาและผู้เสนอราคาแต่อย่างใด
อีกทั้ง เมื่อสอบปากคำพยาน จำนวน 4 ราย ต่างให้การยืนยันว่า นายแพทย์ศิวฤทธิ์ รัศมีจันทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ไม่เคยมีพฤติการณ์สั่งการ หรือใช้อำนาจบังคับให้ต้องดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีการตกลงราคาแต่อย่างใด รวมทั้งไม่เคยมีพฤติการณ์สั่งการหรือเลือกร้านค้าเองโดยเฉพาะเจาะจง และไม่มีพฤติการณ์ประสานไปยังร้านค้าเองโดยตรงแต่อย่างใด โดยมีเจ้าหน้าที่พัสดุให้การยอมรับว่าตนเป็นผู้ประสานงานกับร้านค้าต่างๆ เอง
กรณีจึงไม่ปรากฏพฤติการณ์และพยานหลักฐานยืนยันว่า นายศิวฤทธิ์ รัศมีจันทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ผู้ถูกกล่าวหา กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง ว่า จากการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏว่านายศิวฤทธิ์ รัศมีจันทร์ ผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา
ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป