กระทรวงแรงงาน-กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิ-กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ร่วมกันเสนอถอดกุ้งไทยออกจากสินค้าเฝ้าระวัง เหตุเพราะมีหลักฐานเชื่อได้ว่ารัฐบาลไทยเดินหน้ายุติการใช้แรงงานเด็กแล้ว เผยข้อกำหนดเฝ้าระวังมีผลตั้งแต่ปี 52 ขณะกลุ่มอาหารทะเลชี้ รบ.ไทยยังไม่เดินหน้าทำตามพันธกรณี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกาได้เริ่มเดินหน้าผลักดันการแก้ไขข้อกำหนดว่าด้วยกรณีที่มีการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในภาคส่วนอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศไทย
ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมกุ้งไทยถูกกำหนดให้อยู่ในประเภทสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็กหรือว่าการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งข้อกำหนดนี้ส่งผลทำให้ผู้นำเข้ากุ้งต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบเพิ่มเติมอยู่หลายครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็กหรือว่าการบังคับใช้แรงงานเกิดขึ้นกับกรณีกุ้งที่ถูกสั่งซื้อมาจากประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม วันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้มีการประกาศขึ้นบนเว็บไซต์ Federal Register เสนอให้นำผลิตภัณฑ์กุ้งจากประเทศไทยออกจากข้อกำหนดดังกล่าวนี้ พร้อมกับทางกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิสหรัฐฯ โดยมีการระบุว่าการบังคับใช้แรงงานเด็กในไทยดูเหมือนว่าจะลดลงอย่างมาก
“จากข้อมูลที่มาจากแหล่งต่างๆ ทั้งสามหน่วยงานได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการใช้แรงงานเด็กที่ถูกบังคับหรือผูกมัดในการผลิตกุ้งที่ประเทศไทย" กระทรวงแรงงานสหรัฐฯระบุ
อนึ่งก่อนหน้านี้เคยมีรายงานข่าวสืบสวนบนหน้าข่าวสำนักข่าวเอพี ซึ่งรายงานนี้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ระบุว่าพบว่ามีกรณีการใช้แรงงานเด็กที่ไม่เหมาะสม โดยระบุว่ามีการใช้แรงงานเด็กในการทำหน้าที่แกะเปลือกกุ้งขนาดเล็ก และไม่มีการควบคุมในประเทศไทย
“เด็กข้ามชาติเหล่านี้มีร่วมอยู่ในกระบวนการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งหลังจากที่ทางนานาชาติได้ให้ความสำคัญและดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอาหารทะเลในประเทศไทย ทางรัฐบาลไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆได้พยายามอย่างมากในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การบังคับใช้แรงงานเด็ก ทั่งทั้งอุตสาหกรรมอาหารทะเลรวมไปถึงในภาคส่วนเกี่ยวกับการแกะเปลือกกุ้ง” ประกาศกระทรวงแรงงานสหรัฐฯระบุ
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลกลุ่มที่ทำงานด้านอาหารทะเล (Seafood Working Group) ระบุว่าแม้ว่าในปี 2565 รัฐบาลไทยจะให้สิทธิตามกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ และใช้มาตรการต่อต้านการค้ามนุษย์ที่มีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างการระบุตัวผู้รอดชีวิตจากการบังคับใช้แรงงาน แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีในการทําให้นโยบายเหล่านั้นมีประสิทธิภาพ