ปปง.สั่งยึดอายัดทรัพย์ ‘วชิรวิทย์ ฐิตโภคิน’ พวก อีกลอต 2.5 ล. คดีชักชวนให้ร่วมลงทุนกองทุน PAMM-GCAT ให้ผลตอบแทนสูง ก่อนหน้าโดน 2 ครั้ง 46.3 ล. เบ็ดเสร็จ 48.8 ล. ตร.สั่งฟ้องผู้ต้องหา 11 ราย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) มี คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 90 /2567 เรื่อง อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) ราย นายวชิรวิทย์ ฐิตโภคิน กับพวก กรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันโฆษณาชักชวนประชาชนให้เข้าร่วมลงทุนในกองทุน PAMM และกองทุน GCAT โดยโฆษณาว่าจะได้รับค่าตอบแทนประมาณร้อยละ 5-20 ต่อรอบการลงทุน (30 วัน) ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน จะพึงจ่ายได้ในขณะนั้น (ไม่เกินร้อยละ 3.50 ต่อปี) เป็นเหตุให้มีผู้หลงเชื่อและเข้าร่วมลงทุนจนได้รับความเสียหาย โดยทรัพย์สินที่ถูกอายัดในครั้งนี้เป็นสังหาริมทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องตามเช็คและตามกรมธรรม์ประกันชีวิต ในชื่อ นายวชิรวิทย์ บุคคล และ นิติบุคคล รวม 15 รายการ มูลค่า 2,526,289.88 บาท (ดูเอกสารคำสั่งท้ายข่าว)
ก่อนหน้านี้นายวชิรวิทย์ ฐิตโภคิน กับพวก ถูก ปปง.มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ 2 ครั้ง มูลค่า 46,322,017.50 บาท
ครั้งแรก
คำสั่งที่ ย.85/2566 วันที่ 14 มี.ค.2566 เป็นเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร เงินและสินทรัพย์ดิจิทัลในบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ในชื่อนายวชิรวิทย์ ฐิตโภคิน กับพวก ในชื่อ บุคคลต่างๆ และนิติบุคคล รวม 90 บัญชี รวม 38,156,922.31 บาท (ดูเอกสารคำสั่ง https://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/CommandHo_2566/085-2566.pdf)
ต่อมาวันที่ 2 พ.ค. 2566 คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งเพิกถอนการอายัด เงินฝากจำนวน 5 บัญชี รวม 365,165.95 บาท (ดูเอกสารคำสั่ง https://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/Revoke_2566/%E0%B8%9E16-2566.pdf)
วันที่ 6 มิ.ย.2566 เพิกถอนแก้ไขตัวเลขการเพิกถอนอายัด จำนวน 5 บัญชี รวม 365,165.95 บาท เป็น 391,874.10 บาท (ดูเอกสารคำสั่ง https://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/Revoke_2566/%E0%B8%9E17-2566.pdf)
ครั้งที่ 2
คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย.204/2566 วันที่ 4 ก.ย.2566 ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดไว้ชั่วคราวเพิ่มเติม รายนายวชิรวิทย์ กับพวก 11 รายการ ได้แก่ เงินสด คอมพิวเตอร์ รถยนต์ และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร รวม มูลค่า 8,556,969.37 บาท (ดูเอกสารคำสั่ง: https://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/CommandHo_2566/204-2566.pdf)
รวมยึดและอายัดทรัพย์สิน 3 ครั้ง 111 รายการ มูลค่า 48,848,307.40 บาท
ที่มาคดีก่อนสั่งยึดอายัด
ทั้งนี้ คำสั่งคณะกรรมการ ธุรกรรมในการอายัดทรัพย์ นายวชิรวิทย์ กับพวก ครั้งล่าสุด ย.90/2567 มีรายละเอียดดังนี้
ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้รับรายงานจากกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 4 ตามหนังสือที่ ตช 0039.54/324 ลงวันที่ 28 เมษายน 2565 เรื่อง ส่งแบบรายงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงาน ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2544 บันทึกถ้อยคํา นายแพทย์วรุตม์ เรื่องอัศวเดช เลขรับสำนักงาน ปปง. ที่ 17336 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2565 และกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 ตามหนังสือที่ ตช 0039.2/1151 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2565 เรื่อง ส่งแบบรายงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กล่าวคือ
ตร.สั่งฟ้องผู้ต้องหาฐานทุจริตหลอกลวง 11 ราย
ในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงเดือนเมษายน 2565 นายวชิรวิทย์ ฐิตโภคิน กับพวก ได้ร่วมกันโฆษณาชักชวนประชาชนตั้งแต่สิบคนขึ้นไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งผ่านช่องทางสื่อสารสังคมออนไลน์และการจัดสัมมนาตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้เข้าร่วมลงทุน ในกองทุน PAMM และกองทุน GCAT โดยโฆษณาว่าจะได้รับค่าตอบแทนประมาณร้อยละ 5-20 ต่อรอบการลงทุน (30 วัน) ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน จะพึงจ่ายได้ในขณะนั้น (ไม่เกินร้อยละ 3.50 ต่อปี) เป็นเหตุให้มีผู้หลงเชื่อและเข้าร่วมลงทุนจนได้รับความเสียหาย โดยคดีนี้ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 ได้ทำการสืบสวนสอบสวนและมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายวชิรวิทย์ ฐิตโภคิน ผู้ต้องหาที่ 1 นายธนิศร์ บัวไพจิตร ผู้ต้องหาที่ 2 นายปกรณ์ ตันศิริ ผู้ต้องหาที่ 3 นางสาวโชติรส ไตรรัตน์ ผู้ต้องหาที่ 4 นางสาวระรินธร บุญเกตุ ผู้ต้องหาที่ 5 และนางสาวจิราวรรณ นามสง่า ผู้ต้องหาที่ 6 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
นอกจากนั้น คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวน อาชญากรรมทางเทคโนโลยี 4 ได้ทำการสืบสวนสอบสวนและมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายวชิรวิทย์ ฐิตโภคิน ผู้ต้องหาที่ 1 นางสาวระรินธร บุญเกตุ ผู้ต้องหาที่ 2 นางสาวจิราวรรณ นามสง่า ผู้ต้องหาที่ 3 นายประสิทธิ์ อัศวพึ่งรุ่ง ผู้ต้องหาที่ 4 นางสาวโชติรส ไตรรัตน์ ผู้ต้องหาที่ 5 นายธนิศร์ บัวไพจิตร ผู้ต้องหาที่ 6 นายจิรพันธ์ สันทะ ผู้ต้องหาที่ 7 นายจรุงศักดิ์ เคณาภูมิ ผู้ต้องหาที่ 8 นายปกรณ์ ตันศิริ ผู้ต้องหาที่ 9 นายศุภวิชญ์ บุรณศิริ ผู้ต้องหาที่ 10 และนายณัฐวัฒน์ เฉลยจิตร์ ผู้ต้องหาที่ 11 ในความผิดฐานโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง ร่วมกันนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ร่วมกันฉ้อโกง ประชาชน ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายวชิรวิทย์ ฐิตโภคิน กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
ต่อมาคณะกรรมการธุรกรรมได้มีคําสั่ง ย.85/2566 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2566 เรื่อง อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รายนายวชิรวิทย์ ฐิตโภคิน กับพวก จำนวน 90 รายการ พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) และคณะกรรมการธุรกรรมได้มีคำสั่งที่ ย.204/2566 ลงวันที่ 4 กันยายน 2566 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) รายนายวชิรวิทย์ ฐิตโภคิน กับพวก จำนวน 11 รายการ พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นั้น
ปปง.ตามตรวจสอบทรัพย์พบเพิ่มจากครั้งก่อนอีก 15 รายการ
จากการตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบุคคล รวมทั้งผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินในคดีดังกล่าว พบข้อมูลเพิ่มเติมว่านายวชิรวิทย์ ฐิตโภคิน กับพวก เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือมีสิทธิครอบครองในทรัพย์สิน เพิ่มเติมอีกจำนวน 15 รายการ ประกอบด้วยสิทธิเรียกร้องตามเช็คและสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันชีวิต ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สิน
ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสังหาริมทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องตามเช็คและตามกรมธรรม์ประกันชีวิต
อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคำสั่งให้อายัด ทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดำเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดิน สำนักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุ อันควรเชื่อได้ว่านายวชิรวิทย์ ฐิตโภคิน กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดและอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดำเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 15 รายการ พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 โดยมีรายการทรัพย์สินที่อายัดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคำสั่งนี้