กสทช.เผย 2 ใน 3 รายการข่าว เป็นรายการขยี้ข่าว ชี้เป็นดาบสองคมทั้งช่วยเหลือสังคม-ตอกย้ำความไม่เท่าเทียม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2567 สำนักงานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดสัมมนาเรื่อง รายการขยี้ข่าว "สะท้อน” หรือ "ซ้ำเติม" ปัญหาสังคม
ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. กล่าวว่า นิตยสาร Time ฉบับเดือนมีนาคม 2024 ที่นำเสนอเรื่องราวของนายเศรษฐา ทวีสิน โดยส่วนที่นำเสนอบทความที่พูดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยระบุว่าผู้มีอันจะกินในสังคมไทยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด แต่กลับถือครองทรัพย์สินร้อยละ 66.9 ของประเทศ ปฎิเสธไม่ได้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นประเด็นตั้งต้นของปัญหาการเมืองที่รุมเร้าสังคมไทย ที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนมากี่รัฐบาลก็ยังมีความเหลื่อมล้ำในสังคมยังปรากฎในหลายมิติโดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารสาธารณะ การกระจายของทรัพยากรสื่อสารระดับชาติยังกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม คนตัวเล็กตัวน้อย คนด้อยโอกาส คนชายขอบ ไม่สามารถเข้าถึงได้ แม้จะมีการปฎิรูปสื่อ มีการปฎิรูปการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะคลื่นความถี่จนเป็นที่่มาของการมี กสทช.
ปัจจุบันเราเห็นความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรสื่อสาร ทั้งในการเป็นเจ้าของสื่อและการผลิตเนื้อหา รวมถึงผู้บริโภคที่ต้องการความหลากหลายของเนื้อหา ปรากฎการขยี้ข่าวที่เราจะพูดในวันนี้สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการสื่อสารสาธาระของสังคมไทยในหลายมิติ นักวิชาการบางคนมองว่าการขยี้ข่าวเป็นวิวัฒนาการของรายการข่าว โดยรายการข่าวทั่วไปที่เป็นแบบแผน คือ รายการข่าวพระราชสำนัก ที่เป็นการนั่งอ่านข่าว ไม่มีการสอดแทรกความคิดเห็นหรือความรู้สึกใด ๆ แต่รายการขยี้ข่าว คือ รายการที่มีลักษณะเป็นการเล่าข่าวแบบมโนสาเร่ เน้นเรื่องอื้อฉาว หรือเรื่องที่ผู้คนสนใจ เป็นการนำเสนอแบบละคร มีความเร้าอารมณ์ มีตัวดี ตัวร้าย ให้ดูติดจอยาว ๆ
"จากการสำรวจรายการข่าวทั่วไป 30 รายการ พบว่า 2 ใน 3 หรือประมาณ 20 รายการ ของรายการข่าวในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นการขยี้ข่าว สาเหตุที่รายการขยี้ข่าวสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเพราะบุคคลที่เป็น Subject ของรายการขยี้ข่าว มักจะเป็นชาวบ้านหรือกลุ่มชนชั้นทางสังคมที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรต่าง ๆ หรือสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม สามารถมองได้เป็น 2 แง่มุม 1.ผู้ผลิตอาจจะมองว่าคือการสะท้อนสังคมว่า คนเหล่านี้ถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับการดูแล เป็นการช่วยเหลือสังคมหรือไม่ 2.เป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของระบบ เพราะบางครั้งผูู้ที่ถูกนำมาเสนอถูกช่วยเหลือแต่ก็ถูกละเมิดไปด้วย รายการขยี้ข่าวเป็นดาบสองคม ส่วนดีคือการช่วยเหลือสังคม เปิดเผยความจริง แม้จะมีเจตนารมณ์ที่ดีของผู้ผลิตแต่บางครั้งเป็นการเสนอความรุนแรง ตอกย้ำความไม่เท่าเทียมในสังคม" ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าว