คุก 1,825 ปี! อดีตนายก อบต.เสียว ศรีสะเกษ มีส่วนได้เสียงาน 365 สัญญา -เพิกถอนสิทธิเลือกสิบปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2567 สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดศรีสะเกษ โดยนายอดุลย์ วันดี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดศรีสะเกษ แถลงผลคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ตัดสินจำคุก 1,825 ปี นายธนกฤต ดุษฎีกุล อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เสียว อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีส่วนได้เสียในสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลเสียวจำนวน 365 สัญญา พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัคร - สิทธิเลือกตั้งไม่เกินสิบปี
สืบเนื่องมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 73/2562 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 มีมติเห็นชอบมอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้น ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กรณีกล่าวหานายธนกฤต ดุษฎีกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนเสียว อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ กับพวก มีส่วนได้เสียในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่าง ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลเสียว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำวินิจฉัยที่ 92/2563 วันที่ 25 สิงหาคม 2563 แล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลความผิดเรื่องกล่าวหาดังกล่าว และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องคดี
ต่อมาอัยการสูงสุดตั้งข้อไม่สมบูรณ์ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อหาข้อยุติ แต่คณะกรรมการร่วมไม่อาจหาข้อยุติได้ และเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธนกฤต ดุษฎีกุล กับพวก ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 กรณีดังกล่าว และเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ได้มีคำสั่งให้นายธนกฤต ดุษฎีกุล หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสียว อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา และได้ส่งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจกับนายธนกฤต ดุษฎีกุล และนายอภิวัฒน์ ภักดี ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) และมาตรา 98 วรรคสี่
ต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อท 279/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อท 17/2567 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 โดยคำพิพากษาสรุปได้ว่า นายธนกฤต ดุษฎีกุล จำเลยที่ 1 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสียว อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ได้ร่วมกับนายอภิวัฒน์ ภักดี จำเลยที่ 2 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสียว เมื่อปี 2548 – 2552 และเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสียว เมื่อปี 2552 – 2556 เข้าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับองค์การบริหารส่วนตำบลเสียว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 - 2556 จำนวน 3 สัญญา (โครงการ) โดยใช้ร้านมะลิการค้า โดยนายหนูเหลี่ยง พันธ์ดี จำเลยที่ ร้านทรัพย์เพิ่มพูน โดยนายเคน ปัสราษฎร์ จำเลยที่ 4 ร้านธันยบูรณ์การค้า โดยนายธันยบูรณ์ พวงบุตร จำเลยที่ 5 และร้านทรัพย์ไพศาล โดยนาย พ (นามสมมุติ) เจ้าของร้าน เพื่อเข้าทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลเสียว ทั้งที่ผู้ประกอบการทั้ง 4 รายดังกล่าวไม่ได้จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุสำนักงาน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ตามที่ได้ขอจดทะเบียนจริง อีกทั้งไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรในการก่อสร้างและไม่ได้มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง
โดยนายหนูเหลี่ยง พันธ์ดี จำเลยที่ 3 ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา และรับจ้างทั่วไป เช่น กรีดยาง, นายเคน ปัสราษฎร์ จำเลยที่ 4 ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา ทำสวน และมีอาชีพเสริม เป็นอาสาสมัครปศุสัตว์ เช่น ผสมพันธุ์โค กระบือ สุกร สุนัข ฉีดวัคซีน ทำหมั่นสุนัข แมว เป็นต้น และนายธันยบูรณ์ พวงบุตร จำเลยที่ 5 ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ข้าวโพด ปลูกผักและรับจ้างทั่วไป ส่วนนาย พ (นามสมมุติ) ซึ่งจำเลยที่ 1 เคยแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสียว เมื่อปี พ.ศ. 2548 – 2552 เมื่อหมดวาระต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ให้นาย พ (นามสมมุติ) ไปจดทะเบียนพาณิชย์ร้าน “ทรัพย์ไพศาล” เพื่อเป็นตัวแทน (นอมินี) ในการเข้าเป็นคู่สัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลเสียว เนื่องจากจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่สัญญาเองไม่ได้เพราะขัดต่อกฎหมาย
ในการจัดซื้อจัดจ้างตามโครงการต่างๆ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จะให้ผู้อำนวยการ กองช่าง, นายช่างโยธา,และผู้ช่วยช่างโยธา ทำการประมาณราคาโครงการก่อสร้างดังกล่าว ให้อยู่ในวงเงินงบประมาณไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อให้อยู่ในอำนาจอนุมัติ โดยวิธีตกลงราคา โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ร่วมกันดำเนินการเลือกร้านทั้ง 4 ราย เพื่อเข้าทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลเสียวและเป็นผู้นำเงินไปจ่ายหลักประกันสัญญาด้วยตัวเองโดยจ่ายกับเจ้าหน้าที่พัสดุ
จากนั้นจะนำไปจ่ายต่อเจ้าหน้าที่การเงินหรือเจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้แล้วแต่กรณี นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดหาวัสดุก่อสร้าง เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักร และหาคนงานมาดำเนินการเอง นอกจากนี้ยังเข้าไปสั่งการควบคุมงาน โดยระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างหากวัสดุก่อสร้างขาดเหลือ ผู้อำนวยการกองช่าง, นายช่างโยธาและผู้ช่วยช่างโยธา จะแจ้งจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ให้จัดหาวัสดุก่อสร้างเพิ่มเติม เมื่องานเสร็จแล้วผู้ประกอบการทั้ง 4 ราย จะแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ซึ่งจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 จะเป็นผู้ร่วมลงแรงในแต่ละโครงการ และได้รับค่าจ้างโครงการละ 1,000 - 2,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่หรือกรรมการตรวจการจ้าง จะพบเห็นจำเลยที่ 2 กำลังคุมงานบริเวณหน้างาน โดยไม่พบเห็นจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 5 และนาย พ (นามสมมุติ) อยู่ที่หน้างาน
ส่วนงานประเภทจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการไปจัดซื้อวัสดุทั้งหมด โดยไปซื้อที่ร้านอุบลวัสดุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี แล้วนำใส่รถยนต์บรรทุกวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวมาส่งที่องค์การบริหารส่วนตำบลเสียว ในวันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ บางครั้งนาย พ (นามสมมุติ) หรือเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลเสียว จะช่วยขนวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวมาเก็บไว้ภายในองค์การบริหารส่วนตำบลเสียว อีกทั้งเจ้าหน้าที่หรือกรรมการตรวจรับพัสดุ ต่างไม่เคยพบเห็นจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 5 และนาย พ (นามสมมุติ) นำพัสดุ ครุภัณฑ์ต่างๆ มาส่งมอบที่องค์การบริหารส่วนตำบลเสียว โดยมีนาย ส. (นามสมมุติ) นักการภารโรง และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกุญแจเปิดปิดอาคารสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลเสียว
โดยการจัดซื้อหรือจัดจ้างแต่ละครั้งไม่มีการสืบราคาหรือสรรหาผู้รับจ้าง เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้สั่งการให้นางสาว ป. (นามสมมุติ) เจ้าหน้าที่พัสดุให้นำร้านผู้ประกอบการทั้ง 4 ราย เข้าทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลเสียว และเป็นผู้นำใบเสนอราคาหรือสัญญาออกไปให้ผู้ประกอบการทั้ง 4 ราย ลงนามแล้วนำเอกสารมาคืนให้กับเจ้าหน้าที่พัสดุทุกโครงการ ซึ่งบางครั้งจำเลยที่ 1 จะให้นางสาว ป. (นามสมมุติ) เขียนรายการใบส่งของให้กับทั้ง 4 ร้าน อีกทั้งเป็นผู้ลงนามในสัญญาและหน้าที่ฎีกาอนุมัติเบิกจ่ายเงิน พร้อมทั้งลงนามในเช็คเบิกจ่ายทุกครั้ง ตั้งแต่ปี 2549 – 2556 รวมทั้งสิ้น 365 ครั้ง
โดยจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 5 และนาย พ (นามสมมุติ) ที่เข้าทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลเสียวดังกล่าวมีชื่อเป็นผู้รับจ้างโครงการ และเป็นผู้ลงนามในเอกสารใบเสนอราคา บันทึกตกลงราคา/สัญญาซื้อขาย/สัญญาจ้าง ใบส่งมอบพัสดุ/ส่งมอบงานจ้าง ฎีกาเบิกจ่ายเงินและเอกสารประกอบ ต้นขั้วเช็ค และเอกสารประกอบอื่น เมื่อทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบพัสดุ /ส่งมอบงานจ้างและคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ/ตรวจการจ้าง ได้ทำการตรวจรับว่าถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามสัญญา โดยจำเลยที่ 1 ได้เป็นผู้ลงนามในสัญญาและหน้าฎีกาอนุมัติเบิกจ่ายเงิน พร้อมทั้งลงนามในเช็ค เบิกจ่าย จากนั้นจำเลยที่ 1 จะสั่งการให้นาย พ (นามสมมุติ) หรือเจ้าหน้าที่เขียนใบเสร็จรับเงินแทนร้านมะลิการค้า ร้านทรัพย์เพิ่มพูน ร้านธันยบูรณ์การค้า และร้านทรัพย์ไพศาล
เพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการเบิกจ่ายและรับเช็คไปเบิกจ่ายเงิน และได้ปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 ในใบเสร็จรับเงินดังกล่าว เพื่อประกอบฎีกาเบิกจ่ายเงินไว้เป็นหลักฐาน เมื่อผู้ประกอบการได้รับเช็คจากองค์การบริหารส่วนตำบลเสียวจะนำเช็คไปเรียกเก็บเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาโนนคูณ สาขากันทรลักษ์ หรือสาขาเบญจลักษ์ ตามแต่กรณีในวันเดียวกันหรือใกล้เคียงกันก็จะถอนเงินสดออกมาทันที แล้วนำเงินทั้งหมดไปมอบให้กับจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 จากนั้นจำเลยที่ 1 ก็จะนำเงินสดเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์การเกษตร สาขาโนนคูณ หรือ สาขาเบญจลักษ์ ในวันเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน ที่มีการเบิกจ่ายดังกล่าว จำนวน 25 ครั้ง
ส่วนการจ่ายภาษีของร้านมะลิการค้า ร้านทรัพย์เพิ่มพูน ร้านธันยบูรณ์การค้า และร้านทรัพย์ไพศาล นั้น จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ชำระภาษีและให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 5 และนาย พ (นามสมมุติ) ไปชำระในนามจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 5 และนาย พ (นามสมมุติ) โดยมีเจ้าพนักงานสรรพากร เป็นผู้แนะนำวิธีการยื่นแบบชำระภาษี และคำนวณว่าจะต้องเสียภาษีว่าแต่ละรายชำระคนละเท่าไร ต่อมาช่วงปี 2556 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ครบวาระ และไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสียว ต่อมาจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 5 และนาย พ (นามสมมุติ) ที่เคยเป็นผู้รับงานเฉพาะกับองค์การบริหารส่วนตำบลเสียว ได้จดทะเบียนยกเลิกพาณิชยกิจ จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ได้มีคำพิพากษาว่า
จำเลยที่ 1 นายธนกฤต ดุษฎีกุล มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) 152 (เดิม) รวม 365 กระทง นายอภิวัฒน์ ภักดี จำเลยที่ 2 นายหนูเหลี่ยง พันธ์ดี จำเลยที่ 3 นายเคน ปัสราษฎร์ จำเลยที่ 4 และนายธันยบูรณ์; พวงบุตร จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) 152 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 จำเลยที่ 2 รวม 194 กระทง จำเลยที่ 3 รวม 169 กระทง จำเลยที่ 4 รวม 68 กระทง จำเลยที่ 5 รวม 30 กระทง การกระทำของ
จำเลยทั้งห้าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) 152 (เดิม) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) 152 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
ให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 จำเลยที่ 1 จำคุก 1,825 ปี จำเลยที่ 2 จำคุก 582 ปี 776 เดือน จำเลยที่ 3 จำคุก 507 ปี 676 เดือน จำเลยที่ 4 จำคุก 204 ปี 212 เดือน จำเลยที่ 5 จำคุก 90 ปี 120 เดือน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วจำคุกจำเลยทั้งห้าคนละไม่เกิน 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) กับให้จำเลยที่ 1 พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ (วันที่ 27 ธันวาคม 2565) และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 ประกอบมาตรา 93 วรรคสอง
อนึ่ง เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสเกษ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ได้รายงานตามหน้าที่และอำนาจ ตามที่นายอำเภอเบญจลักษ์เสนอ โดยให้เหตุผลนายธนกฤต; ดุษฎีกุล พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสียวในวาระดังกล่าวแล้ว 6 ปี 2 เดือน จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการสั่งให้นายธนกฤต; ดุษฎีกุล และนายอภิวัฒน์; ภักดี พ้นจากตำแหน่งได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องสอบสวนตามมาตรา 90/1 และมาตรา 92 ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และแก้ไขเพิ่มเติม