พิพิธภัณฑ์นิวยอร์กทำ MOU รบ.ไทย ยืนยันคืนวัตถุโบราณให้ไทย 2 ชิ้น คาดส่งถึงไทยช่วงเดือน พ.ค. ก่อนตั้งแสดงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ภัณฑารักษ์เผยรายละเอียดงานศิลปะโบราณ เป็นผลงานชิ้นเอกไม่มีใครเทียบได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวว่าเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน หรือ MET (Metropolitan Museum of Art) นครนิวยอร์ก ได้มีการเซ็นบันทึกความเข้าใจกันระหว่าง MET กับรัฐบาลไทย โดยพิพิธภัณฑ์จะใช้โอกาสนี้ส่งคืนประติมากรรมโลหะสมัยศตวรรษที่ 11 สองชิ้นอย่างเป็นทางการ โดยรูปปั้นประติมากรรมทั้งสองจะถูกออกจากคอลเล็คชั่นในเดือน ธ.ค.
ข้อตกลง MOU มีผู้ลงนามได้แก่นายแม็กซ์ ฮอลลีน ผู้อำนวยการ MET และนางนิตยา กนกมงคล ผอ.สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากรเป็นผู้ลลงนาม
โดยข้อตกลงระบุว่าข้อพิพาทใด ๆ ระหว่างพิพิธภัณฑ์และราชอาณาจักรไทย "จะได้รับการตัดสินอย่างเป็นมิตร" และ "ด้วยจิตวิญญาณของการเคารพซึ่งกันและกันโดยไม่ต้องอ้างอิงถึงบุคคลที่สาม"
ก่อนการลงนาม ตัวแทนของทั้ง MET และจากไทยผลัดกันกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับผลงานทั้งสองชิ้นที่ถูกส่งคืน นายฮอลลีนตั้งข้อสังเกตว่าประติมากรรม "เป็นของราชอาณาจักรไทยโดยชอบธรรม" ขณะที่นายสมใจ ตภาพงศ์ กงสุลใหญ่ไทย ณ นครนิวยอร์ก เรียกวัตถุเหล่านี้ว่า "วัตถุที่มีความล้ำค่าและมีความน่าดึงดูด"
ส่วนนายจอห์น กาย ภัณฑารักษ์ศิลปะเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ MET กล่าวถึงประติมากรรมเหล่านี้เป็นผลงานที่น่าทึ่ง ผลงานชิ้นเอกไม่มีใครเทียบได้
สำหรับประติมากรรมพระอิศวรยืนที่เรียกว่า Golden Boy และประติมากรรมหญิงคุกเข่านั้นมีอายุย้อนไปได้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 โดย Golden Boy เชื่อกันว่าเป็นรูปปั้นแสดงถึงเทพเจ้าฮินดูในร่างมนุษย์ เป็น "ภาพทองสัมฤทธิ์ที่ยังหลงเหลืออยู่จากศิลปะสมัยอังกอร์"
โดยคำบรรยายของ MET ระบุว่าประติมากรรม Golden Boy อาจจะมีจุดประสงค์สองประการได้แก่ 1.เป็นตัวแทนของสัญลักษณ์ลัทธิสําหรับการบูชาในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของราชวงศ์และ 2.ยังทําหน้าที่เป็นภาพบรรพบุรุษของผู้ปกครองที่ล่วงลับไปแล้วว
ส่วนประติมากรรมผู้หญิงคุกเข่านั้นเชื่อกันว่าเป็นราชินีเขมรโบราณ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของชุดประติมากรรมใช้สำหรับบูชาเทพเจ้า โดยประติมากรรมชิ้นนี้ถูกขายให้กับ MET ในปี ค.ศ.1972 โดยผู้ขายให้คือนางดอริส วีเนอร์ ผู้ลักลอบขายโบราณวัตถุอันฉาวโฉ่
นายกายจะร่วมเดินทางไปพร้อมกับผลงานทั้งสองชิ้นที่ส่งถึงประเทศไทยในเดือนหน้า (พ.ค.) ซึ่งเขาจะบรรยายและมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองการกลับมาของประติมากรรมเหล่า ซึ่งมีกําหนดจะจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในกรุงเทพฯ