ป.ป.ช.เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา 'อดุลย์ โทรัตน์' อดีตนายก อบต.ทางขวาง ขอนแก่น เบิกจ่ายเงินซื้อรถบรรทุกน้ำก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์ ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 4 พิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี พร้อมพวก 3 ราย ไม่รอลงอาญา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายอดุลย์ โทรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทางขวาง อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น กับพวก คือ นายประสาท ภูศรีฤทธิ์ นางนิตยา เพชรเวียง นายบุญฤทธิ์ สิงห์ศรี นายเทอดพงษ์ จุมพลา จัดซื้อรถยนต์บรรทุกน้ำอเนกประสงค์ความจุไม่น้อยกว่า 8,000 ลิตร โดยเบิกจ่ายให้กับผู้ขายก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ตามสัญญา ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 , 157 และ 162 (1) (4) ตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2565
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 มีคำพิพากษาดังนี้
1. นายอดุลย์ โทรัตน์ จำเลยที่ 1 นายประสาท ภูศรีฤทธิ์ จำเลยที่ 2 นายบุญฤทธิ์ สิงห์ศรี จำเลยที่ 4 และ นายเทอดพงษ์ จุมพลา จำเลยที่ 5 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม), 157 (เดิม), 162 (4) (เดิม) พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 172
การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีเจตนาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ขายให้ได้รับเงินก่อนที่จะส่งมอบและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ตามสัญญา และช่วยเหลือผู้ขายให้ไม่ต้องชำระค่าปรับตามสัญญาแต่เพียงประการเดียว จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90
ให้จำคุกคนละ 10 ปี
2. นางนิตยา เพชรเวียง จำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 157 (เดิม) พ.ร.ป.ป.ป.ช.พ.ศ. 2561 มาตรา 172 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 172 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
ให้จำคุก 5 ปี และปรับ 100,000 บาท
จำเลยที่ 3 ให้การยอมรับผิดส่วนนี้มาโดยตลอด มีเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ.มาตรา 78 เห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท
รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนดสองปี และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยที่ 3 โดยให้ไปรายงานตัวกับพนักงานประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี กับให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 96 ชั่วโมง หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
ทั้งนี้ คดียังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมด มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
เบื้องต้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2567 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษา
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐเทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
อ่านประกอบ :
- รอลงอาญา! คุก 6 ด. อดีตนายกเทศฯ บ้านใหม่ โคราช ออกคำสั่งให้พนง.ไปศึกษาดูงานมิชอบ
- คุก 5 ปี! อดีตผอ.ศูนย์ส่งเสริมอุตฯ อ้อยน้ำตาลภาคที่ 2 เรียกเงินจัดซื้อจ้างโครงการฯ