ประธานวุฒิสภา ย้ำสมาชิกรัฐสภา ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ป้องกันใช้อำนาจหาผลประโยชน์ ด้านประธาน ป.ป.ช. เล็งแก้ไขประกาศเพิ่มเติมให้กลุ่มอาชีพเสี่ยง ตำรวจ-สรรพสามิต-ศุลกากร ยื่นด้วย ป้องกันการทุจริต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2567 สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินภายใต้โครงการ สร้างระบบนิติบัญญัติให้สุจริต โปร่งใส และยกระดับการตรวจสอบจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภาและบุคคลในวงงานรัฐสภาด้วยพลังพลเมือง
โดย ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา กล่าวว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับสมาชิกรัฐสภาเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นหน้าที่เฉพาะตัว ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องกระทำ หากสมาชิกรัฐสภาจงใจไม่ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบอาจนำไปสู่การฟ้องร้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีโทษทางอาญาตามกฎหมายยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ดังนั้นจึงเป็นแนวคิดที่แสดงความบริสุทธิ์ใจของสมาชิกว่ามีกิจการ ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อย่างใด เพื่อให้หน่วยงาน ที่รับผิดชอบตรวจสอบและเปิดเผยให้ประชาชนทราบ
ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร กล่าวอีกว่า การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกหลายคน อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ หรือทรัพย์สินที่มิควรได้สำหรับตนเอง หรือผู้อื่น ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินให้ประชาชนได้ทราบ จึงเปรียบเสมือนการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า จะไม่กระทำการใดอันเป็นการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง อันเป็นสาระสำคัญของการเปิดเผย บัญชีทรัพย์สินฯ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ระบบการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ในหน้าที่ของป.ป.ช. นอกจากต้องตรวจสอบเรื่องความถูกต้องและการมีของทรัพย์สินหนี้สินแล้ว ต้องเน้นตรวจสอบความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินที่ผิดปกตินำไปสู่ความร่ำรวยผิดปกติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งวัตถุประสงค์ที่ต้องตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน เพื่อสร้างความโปร่งใสให้ระบบการเมืองและระบบราชการ ไม่ใช่เรื่องจับผิด แต่เป็นการส่งเสริมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐมีคุณธรรม
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า เพื่อส่งเสริมการปราบปรามการทุจริต เพราะผลประโยชน์ที่ได้จากการทุจริตจะถูกแปลงเป็นทรัพย์สินอื่นไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ดังนั้น มาตรการการยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นการคัดกรองบุคคลเมื่อเข้าสู่ตำแหน่ง จะปิดโอกาสผู้ที่มีความไม่สุจริตเข้าสู่ตำแหน่งสูงและใช้ตำแหน่งหน้าที่นั้นในการกระทำทุจริต และเมื่อยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินให้ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้ว ต้องเปิดเผยเพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าไปตรวจสอบว่าทรัพย์สินที่ยื่นมานั้นครบถ้วนหรือไม่ เพราะคนที่รู้ดีที่สุดอาจจะเป็นประชาชน ตรงนี้อาจจะเป็นอำนาจ หรือที่เรียกว่า ประชาชนจะมาช่วยกันเป่านกหวีด เมื่อพบการทุจริต
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กรรมการ ป.ป.ช.เองก็ต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธานวุฒิสภา นอกจากนี้ยังมีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตุลาการศาลยุติธรรม ตามมาตรา 102 เจ้าพนักงานของรัฐตามที่คณะกรรมการป.ป.ช.กำหนด รวมถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงานป.ป.ช.ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไป พนักงานไต่สวน เจ้าพนักงานตรวจสอบที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยเช่นกัน
"ในอนาคต ป.ป.ช.เสนอแก้ไขประกาศเพิ่มเติมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงเช่น กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิตและตำรวจ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน หนี้สินต่อ ป.ป.ช. ทั้งหมด เพราะมีโอกาสประพฤติมิชอบได้ โดยให้ยื่นเอาไว้ทั้งหมด หากวันใดมีเรื่องกล่าวหาสามารถหยิบยกมา ตรวจสอบเปรียบเทียบได้" พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว