สภาผ่านร่างสมรสเท่าเทียม 400 เสียง ต่อ 10 เสียง คืนสิทธิเบื้องต้นให้ LGBTQ กำหนดอายุ 18 ปี หมั้น-สมรสได้ ดันไทยเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ภายหลังจากมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในวาระ 2 จนครบ 38 มาตรา
โดยภาพรวมที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น พิจารณาเรียงตามรายมาตรา ซึ่ง กมธ.ฯ เสียงข้างน้อย ที่มาจากภาคประชาชน ได้เสนอขอให้บัญญัติเพิ่มคำว่า "บุพการีลำดับแรก" (ที่ทำหน้าที่เสมือนมารดา-บิดา) เพื่อให้เกิดคำกลางๆ ลงในร่างกฎหมายแทนบิดา-มารดา รองรับความสมบูรณ์ของครอบครัวให้คู่สมรสเพศเดียวกัน
แต่กรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การกำหนดบุพการีลำดับแรก เป็นคำใหม่ที่ไม่เคยบัญญัติในกฎหมาย และไม่มีการให้คำนิยาม จึงอาจเกิดผลกระทบในการบังคับใช้ได้ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลที่จะกระทบต่อกฎหมายทั้งหมดของประเทศ ที่ประชุมฯ จึงมีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบตามการปรับแก้ของกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก ทั้งนี้ เมื่อบุคคล 2 คน ไม่ว่าจะเพศเดียวกัน หรือต่างเพศกัน จดทะเบียนสมรสร่วมกันแล้ว ก็จะมีสถานะ"คู่สมรส"
ดังนั้น ก็จะไปเข้าเงื่อนไขในกฎหมายอื่นๆ ที่รองรับสิทธิประโยชน์ของ "คู่สมรส" อาทิ สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส , สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา , สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต , สิทธิรับบุตรบุญธรรม , สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย , สิทธิจัดการศพ , สิทธิได้รับประโยชน์ และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม , สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงคู่สมรส ยังสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ พร้อมรับรองถึงกฎหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีใด อ้างถึงสามี ภริยา หรือสามีภริยา ให้ถือว่าอ้างตามคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ด้วย
จากนั้นประธานในที่ประชุมได้เรียกสมาชิกลงมติ ในวาระ 3 โดยมีผู้ลงมติจำนวน 414 คน ปรากฏว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วย 399 เสียง + 1 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 3 เสียง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการลงมติว่าจะเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากหรือไม่ โดยมีผู้ลงมติจำนวน 401 คน ปรากฏว่า เห็นด้วย 393 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง
ทำให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทำให้คณะกรรมาธิการต่างปรบมือ และโบกธงสีรุ้งด้วยความดีใจ
สำหรับเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดให้การสมรสหรือแต่งงานครอบคลุมบุคคลทุกเพศ ไม่จำกัดแค่เพศชายและเพศหญิง พร้อมทั้งให้อายุการสมรสเป็น 18 ปี จากเดิม 17 ปี และการบัญญัติคำว่า “บุพการีลำดับแรก” ในกฎหมายให้มีสิทธิและหน้าที่เทียบเท่าบิดามารดา
ทั้งนี้ ประเทศไทย จะถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ที่ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม