บอร์ด ขสมก. ยังไม่อนุมัติแผนจัดหารถเมล์ใหม่ แบ่งเฟส 3 จำนวน 1,520 คัน ให้ศึกษา PPP ส่วนเฟส 1 จำนวน 350 คัน ให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาก่อนเสนอเข้าบอร์ดในโอกาสต่อไป พร้อมอนุมัติกู้เงินเสริมสภาพคล่อง-PSO ปี 2568 ยืนยันเลิกสัญญา ช.ทวี กรณีรถ NGV แน่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 7 มีนาคม 2567 นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดขสมก. เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2567 ในส่วนของโครงการจัดการรถโดยสารปรับอากาศพลังงานสะอาด (รถโดยสาร EV ) จำนวนรวม 3,390 คัน เพื่อทดแทนรถเก่าที่มีอายุใช้งานมากกว่า 30 ปี ซึ่งแบ่งการดำเนินการจัดหาออกเป็น 3 ระยะ (เฟส)
@รถใหม่รอศึกษา PPP - คกก.กลั่นกรอง
ขสมก.ได้นำเสนอบอร์ดในครั้งนี้ โดยที่ประชุม ได้รับทราบการบรรจุโครงการจัดหาและบำรุงรักษารถโดยสารพลังงานสะอาด จำนวน 1,520 คัน ซึ่งเป็นโครงการในเฟสที่ 3 เข้าสู่แผนการดำเนินการ ตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (PPP) โดยโครงการนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการนลงทุนโครงการเกิน 1,000 ล้านบาทไปแล้ว หลังจากนี้ ขสมก.จะขอเงินจากกองทุน PPP เพื่อจ้างที่ปรึกษาการดำเนินการศึกษาการร่วมลงทุนตามเงื่อนไข PPP คาดว่าจะใช้วงเงิน 20-30 ล้านบาท ใช้เวลาศึกษา 2-3 เดือน หลังจากศึกษาเสร็จแล้วจะเสนอบอร์ดอีกครั้งและเข้าสู่ขบวนการPPPคัดเลือกเอกชนต่อไป
ส่วน เฟส 1 จำนวน 350 คัน ซึ่งตามแผนจะใช้วิธีการจัดหาแบบเฉพาะเจาะจงเพราะมีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน และ เฟส 2 จำนวน 1,520 คัน ใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) นั้น บอร์ดเห็นควรให้ขสมก.เสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯก่อน เพื่อให้เกิดความรอบคอบ คาดว่าจะเสนอบอร์ดได้ในเดือนหน้า
ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่ประชุมบอร์ด ขสมก.ได้เห็นชอบแต่งตั้ง นางสาวพิมพ์เพ็ญ ลัดพลี เป็นรองประธานบอร์ดคนที่ 1 และ นายภูมินทร์ บุตรอินทร์ เป็นรองประธานคนที่ 2 และการกำหนดปฎิทินการประชุมบอร์ดเดือนละ 2 ครั้ง ทุกวันพฤหัสบดีที่ 1และ 3 ของสัปดาห์ พร้อมทั้ง เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ/คณะกรรมการอื่น จำนวน 10 ชุด ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการตรวจสอบ 2. คณะอนุกรรมการสรรหา แระเมินผลและกำหนดค่าตอบแทน 3. คณะกรรมการด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี 4. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง 5. คณะกรรมการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 6. คณะกรรมการด้านการบริหารนวัตกรรม 7. ประธานกรรมการกิจการสัมพันธ์ 8. คณะกรรมการด้านกฎหมาย 9. คณะกรรมการด้านการสื่อสารองค์กรและการประชาสัมพันธ์ 10.คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องที่อยู่ในอำนาจบอร์ด
@ไฟเขียวกู้ปี 68 3 หมื่นล./PSO ปี 68 วงเงิน 5.7 พันล้าน
นายยุทธนา กล่าววา นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ ขสมก.กู้เงินเพื่อชำระหนี้เงินกู้เดิมที่ครบกำหนดและเสริมสภาพคล่องทางการเงิน (กรณีรายได้ไม่พอสำหรับรายจ่าย) ประจำปีงบประมาณ 2568 รวมเป็นเงิน 30,025.66 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. จ่ายคืนต้นเงินกู้ 21,484.93 ล้านบาท 2.เสริมสภาพคล่องทางการเงิน 8,540.73 ล้านบาท แยกเป็นค่าเชื้อเพลิงรถโดยสาร 2,494.85 ล้านบาท ค่าเหมาซ่อมรถโดยสาร1,662.19 ล้านบาท เสริมสภาพคล่องทางการเงิน 4,383.69 ล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2568 ขสมก.คาดว่าจะมีรายได้รวม 6,435 ล้านบาท รายจ่ายประมาณ 36,461 ล้านบาท
รวมถึงรับทราบการขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) ประจำปีงบประมาณ 2568 ตามหลักเกณฑ์การคำนวณต้นุทนมาตรฐานตามที่คู่มือของ สคร.กำหนด จำนวน 5,735,659,667.54 บาท แยกเป็น รถโดยสารธรรมดา จำนวน 2,931,650,457.60 บาท รถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 2,804,009,209.94 บาท
@เดินหน้าเลิกสัญญาซ่อมรถNGVกับ SCN-CHO พร้อมเรียกค่าเสียหาย
ส่วนเรื่องการบอกเลิกสัญญาซ่อมบำรุง รถปรับอากาศสีฟ้า ( NGV) ยี่ห้อบอนลัค จำนวน 489 คันกับ กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO (บมจ. ช ทวี จำกัด หรือ CHO ร่วมกับ บมจ.สแกน อินเตอร์ หรือ SCN ) ที่มีปัญหารถเสียสามารถวิ่งให้บริการได้เพียง 80 คัน เท่านั้น ที่ประชุม ให้เสนอคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายฯ พิจารณาอำนาจในการบอกยกเลิกสัญญา โดยหากอนุฯกฎหมาย เห็นว่า เป็นอำนาจของผอ.ขสมก. ให้ผอ.ขสมก.ดำเนินการบอกยกเลิกสัญญาและนำรายงานต่อที่ประชุมบอร์ดต่อไป หากการบอกเลิกสัญญาเป็นอำนาจของบอร์ด ให้เสนอบอร์ดพิจาณาเห็นชอบบอกเลิกสัญญาในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อเร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ ขสมก.รายงานว่า ในการบอกเลิกสัญญา ขสมก.จะเรียกค่าเสียหาย และค่าเสียโอกาสจากคู่สัญญาด้วย เนื่องจาก ขสมก.ขาดโอกาสในการหารายได้จากรถ NGV จำนวน 489 คัน ,ขาดรายได้จากการนำรถเส้นทางอื่นมาช่วยวิ่งในเส้นทางของรถ NGV ค่าความเสี่ยงที่จะถูกคู่ค้าเรียกค่าเสียหาย เช่นกรณีคู่ค้าโฆษณาบนรถ NGV และค่าเสียหายอื่นๆ เบื้องต้น รวมประมาณ 500 ล้านบาท