พรรคก้าวไกลจัดเสวนา ‘ยุบพรรคการเมือง ประเทศไทยเสียอะไร’ ชงข้อเสนอเลิกโทษยุบพรรคการเมืองใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ชี้การยุบพรรคเป็นเหตุให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ขาดผู้ตรวจสอบรัฐบาล ด้าน สส.ก้าวไกลเผยตั้งแต่มีโทษยุบพรรคในปี 2498 มีพรรคถูกยุบแล้ว 375 พรรค ก่อนเตือนยิ่งยุบพรรคเท่าไหร่ คนยิ่งตาสว่างมากขึ้นเท่านั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเร็วๆนี้ ที่อาคารอนาคตใหม่ แขวงหัวหมาก พรรคก้าวไกลจัดกิจกรรมเสวนา Sol Bar Talk Special เรื่อง “ถ้ายุบพรรคการเมืองต่อไป ประเทศไทยจะเสียอะไรบ้าง?” เนื่องในวาระครบรอบ 4 ปีการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยมี รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, นางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่, และนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.พรรคก้าวไกล ร่วมเสวนา
รศ.ยุทธพรกล่าวว่า หลายคนอาจจะรู้สึกว่ามีพรรคการเมืองขนาดใหญ่เพียงไม่กี่พรรคในประเทศไทยที่ถูกยุบไปในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ความเป็นจริงพรรคการเมืองไทยขนาดเล็กและขนาดกลางถูกยุบมาแล้วกว่าร้อยพรรค ซึ่งการยุบพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เพราะในระบอบนี้ พรรคการเมืองคือตัวกลางที่เชื่อมต่อประชาชนเข้ากับระบบการเมือง นำปัญหาและข้อเรียกร้องของประชาชนเข้าสู่การแก้ไขในระบบรัฐสภา หากพรรคการเมืองเข้มแข็ง ประชาชนและประชาธิปไตยก็จะเข้มแข็ง แต่หากพรรคการเมืองอ่อนแอ ประชาชนและประชาธิปไตยก็จะอ่อนแอลงตามไปด้วย
@พ.ร.ป.พรรคการเมือง ตัวคุมกำเนิดพรรคการเมืองไทย
รศ.ยุทธพรกล่าวต่อไปว่า ต้องย้ำว่าโทษของการยุบพรรคการเมืองไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ถูกเขียนไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา ซึ่งมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของพรรคการเมือง และกำหนดบทลงโทษหากพรรคไม่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญคือพรรคการเมืองไทยไม่ได้ถูกทำให้เติบโตไปตามธรรมชาติ แต่ถูกบังคับให้เติบโตผ่าน พ.ร.ป. พรรคการเมือง เช่น การไปกำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือต้องมีสาขาพรรคครบทั้ง 4 ภาค ซึ่งสิ่งเหล่านี้เหมือนจะดูดี สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชน แต่หากพรรคการเมืองไม่ได้เติบโตโดยธรรมชาติ ไม่ได้เติบโตจากพลังการขับเคลื่อนทางสังคม พรรคก็ต้องไปหานายทุนเพื่อทำให้พรรคเติบโตไปตามที่กฎหมายกำหนด นำมาซึ่งการต่อรองแลกโควต้ารัฐมนตรีและอื่น ๆ ซึ่งเป็นการเมืองแบบเก่าที่เราไม่อยากเห็น
นอกจากจะกำหนดการเติบโตแล้ว พ.ร.ป. พรรคการเมืองยังทำให้พรรคถูกตัดตอนเช่นกัน เช่น ถ้าไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด หาสมาชิกได้ไม่ครบ ไม่ดำเนินกิจการต่าง ๆ หรือไปทำสิ่งที่กฎหมายระบุว่าเข้าข่ายยุบพรรค พรรคก็จะถูกตัดตอนไป ยิ่งโดยเฉพาะ พ.ร.ป. พรรคการเมืองฉบับปัจจุบันมีการกำหนดเหตุแห่งการยุบพรรคด้วยถ้อยคำที่ตีความได้กว้างขวาง ก็มีแนวโน้มที่จะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองง่ายยิ่งขึ้น
“การใช้กฎหมายให้กลายเป็นการเมือง สุดท้ายสิ่งที่เรียกว่าหลักนิติรัฐ-นิติธรรมมันจะไม่หลงเหลืออยู่ในสังคม สิ่งที่เรียกว่าการมีกฎหมายเพื่อพิทักษ์รักษาหรือคุ้มครองเสรีภาพให้กับประชาชนมันจะไม่เหลือในสังคม แต่สิ่งที่เหลือคือกฎหมายที่เป็นเครื่องมือของคนมีอำนาจ หรือกฎหมายที่กลายเป็นเครื่องมือของคนซึ่งต้องการจะใช้เพื่อทำลายล้างทางการเมือง” รศ.ยุทธพรกล่าว
@ปัญหา 3 ประการ ทำพรรคการเมืองถูกยุบถี่
อาจารย์จากม.สุโขทัยธรรมาธิราช มองถึงปัญหาทางการเมืองไทย 3 ประการที่ทำให้การยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง คือ 1. ปัญหาเชิงอุดมการณ์ ระหว่างระบอบประชาธิปไตยแบบสากล กับประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามและการตีความที่หลากหลายว่าระบอบการปกครองของไทยคืออะไรกันแน่ และแบบใดจึงเรียกว่าการ “ล้มล้างการปกครอง”
2. ปัญหาเชิงสถาบันและกระบวนการทางการเมือง เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่สถาบันแรกที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับสังคมไทย แต่คือระบบราชการ โดยเฉพาะศาล และกองทัพ ทำให้เกิดภาวะรัฐเร้นลึกที่คอยบอนไซระบอบประชาธิปไตย
และ 3. ปัญหาสังคมและวัฒนธรรม กล่าวคือ สังคมไทยเราไม่ใช่สังคมที่มีจินตภาพเรื่องการรวมกลุ่ม พรรคการเมือง การเลือกตั้ง กระบวนการนิติบัญญัติ เสรีภาพ ความเสมอภาค หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาเป็นหลักตั้งต้น ซึ่งเป็นจินตภาพพื้นฐานที่จำเป็นต่อสังคมประชาธิปไตย 3 ปัญหาข้างต้นนี้นำไปสู่การใช้กฎหมายให้กลายเป็นการเมือง และทำให้สถาบันทางประชาธิปไตยของไทยอ่อนแอมาโดยตลอด
รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
@ตั้งแต่ 2498 พรรคการเมืองถูกยุบ 375 พรรค
ขณะที่นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ร.ป. พรรคการเมืองประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2498 มีพรรคการเมือง 375 พรรคเป็นอย่างน้อยที่ถูกยุบไป เป็นการยุบเจตจำนงของประชาชนไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไรที่พยายามรวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและการเมือง
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งการยุบพรรคไทยรักษาชาติเมื่อเดือนมีนาคม 2562 พรรคอนาคตใหม่เคยออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วย โดยระบุว่า การยุบพรรคก่อนที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเพียง 17 วันย่อมส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งโดยภาพรวม เป็นการตัดโอกาสพรรคการเมืองในการเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง เป็นการทำลายเจตจำนงของประชาชน และขอยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการนำองค์กรอิสระมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งผ่านไป 5 ปีสถานการณ์ของประเทศไทยก็ยังเป็นเช่นเดิม
@ยิ่งยุบ คนยิ่งตาสว่าง
นายณัฐวุฒิกล่าวต่อไปว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมและประเทศชาติเมื่อมีการยุบพรรคการเมือง มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ 1. การยุบพรรคคือการยุบเจตจำนงของประชาชนที่มารวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและการเมือง 2. การยุบพรรคทำให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภาเสียไป โดยหากพรรคนั้นเป็นรัฐบาลก็จะสูญเสียสิทธิในการได้อำนาจบริหาร ส่วนหากพรรคนั้นเป็นฝ่ายค้าน รัฐสภาก็จะสูญเสียระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ และ 3. การยุบพรรคคือการทำลายตัดตอนความน่าเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อองค์กรต่าง ๆ ในระบบการเมือง ซึ่งยิ่งทำเช่นนี้ต่อไป ประชาชนก็จะยิ่งตื่นรู้และยิ่งตาสว่าง
“การยุบพรรคที่ผ่านมาไม่ได้เกิดขึ้นจากเจตจำนงของประชาชน แต่เกิดจากเจตจำนงที่ต้องการทำลายล้างกันทางการเมือง เราต้องยืนยันและส่งเสียงร่วมกัน เพื่อไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยเสื่อมเสียไปมากกว่านี้” นายณัฐวุฒิกล่าว
ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.พรรคก้าวไกล
@ข้อหาล้มล้างการปกครอง ทำพรรคการเมืองอ่อนแอ
ขณะที่นางสาวพรรณิการ์กล่าวว่า หากลองทบทวนว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ของไทยถูกยุบด้วยข้อหาอะไรบ้าง จะพบว่าพรรคไทยรักไทยถูกยุบเมื่อปี 2550 ด้วยข้อหา “ล้มล้างการปกครอง” จากกรณีการจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นการได้มาซึ่งการปกครองโดยมิชอบ พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบเมื่อปี 2562 ด้วยข้อหา “ล้มล้างการปกครอง” จากกรณีการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรี และในปี 2567 พรรคก้าวไกลก็กำลังจะถูกยื่นให้พิจารณายุบพรรคด้วยข้อหา “ล้มล้างการปกครอง” เช่นกัน จากกรณีการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112
ทั้ง 3 กรณีจะเห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งสะท้อนว่ากฎหมายสามารถตีความได้หลายทาง ผันแปรไปตามบริบทความขัดแย้งทางการเมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะไม่รู้ว่าทำอะไรได้-ไม่ได้บ้าง กฎหมายที่ดีต้องชัดเจน เพื่อให้ประชาชนและพรรคการเมืองเข้าใจตรงกันว่าอะไรทำได้-ไม่ได้ และไม่ให้เกิดการใช้อำนาจที่ล้นเกินของฝ่ายตุลาการ
@ไม่เห็นด้วย ฟัน ‘ศักดิ์สยาม’ ต้องยุบพรรค
นอกจากนี้ นางสาวพรรณิการ์กล่าวต่อไปว่า การกระทำผิดของบุคคลภายในพรรค ไม่ว่าจะเป็นสมาชิก สส. หรือกรรมการบริหาร ไม่ควรเป็นเหตุแห่งการลงโทษยุบพรรค หากพิสูจน์ได้ชัดว่าบุคคลนั้นกระทำผิดโดยส่วนบุคคล ไม่ได้ใช้อำนาจของพรรคในการกระทำความผิด เช่นกรณีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ที่ศาลตัดสินแล้วว่ามีความผิดในคดีหุ้น ก็ไม่ควรเป็นเหตุให้ถึงขั้นยุบพรรคภูมิใจไทย เพราะเป็นการกระทำส่วนบุคคล ไม่ได้กระทำการในฐานะกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย สิ่งนี้คือข้อพิสูจน์ว่าการยุบพรรคไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่าจะกับพรรคใดก็ตาม
“เวลาพูดถึงการยุบพรรค สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นคือ พรรคการเมืองด้วยกันเห็นดีเห็นงามไปกับการยุบพรรค ซึ่งเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองยังไม่เห็นถึงความสำคัญที่จะปกป้องกันและกันว่าเราจะต้องไม่ถูกยุบ แล้วใครจะมาปกป้องพวกเรา” นางสาวพรรณิการ์กล่าว
@เสนอยกเลิกบทยุบพรรคการเมือง
ท้ายที่สุด เมื่อพูดถึงวิธีการแก้ปัญหาเพื่อหยุดยั้งวงจรอุบาทว์ของการยุบพรรค รศ.ยุทธพรกล่าวว่า มี 2 เส้นทางที่จะดำเนินการได้ เส้นทางแรกคือการยกเลิกบทลงโทษเรื่องการยุบพรรคออกจาก พ.ร.ป. พรรคการเมือง ซึ่งข้อดีคือจะทำให้การยุบพรรคการเมืองไม่เกิดขึ้นอีก ยกเว้นจะเกิดการรัฐประหาร แต่ก็มีข้อเสียคือ หากมีพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อมุ่งทำลายระบอบประชาธิปไตยโดยแท้จริง เช่น พรรคทหารจำแลง ก็จะไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ หรือจะเลือกใช้เส้นทางที่ 2 คือการเขียนข้อกำหนดเกี่ยวกับการยุบพรรคไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน เฉพาะเจาะจง เพื่อป้องกันไม่ให้ศาลใช้อำนาจในการตีความล้นเกิน
ขณะที่นายณัฐวุฒิกล่าวว่า หนทางที่ดีที่สุดคือการคืนเจตจำนงให้ประชาชนร่วมกันคิดและออกความเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าควรจะออกแบบกลไกและเงื่อนไขเพื่อป้องกันการยุบพรรคด้วยจุดประสงค์ทางการเมืองอย่างไร รวมถึงการออกแบบกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญด้วย
พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่