บอร์ด สปสช. เห็นชอบขยายพื้นที่ '30 บาทรักษาทุกที่' เฟส 2 อีก 8 จังหวัด เริ่ม 1 มี.ค. 67 เผยหน่วยบริการนวัตกรรมวิถีใหม่เข้าร่วม ตามนโยบายฯ แล้ว 451 แห่ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา มีวาระการประชุมเรื่อง “การขยายพื้นที่ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ในระยะที่ 2” ได้มีการรับทราบผลการดำเนินการนโยบายในระยะที่ 1 พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบให้ขยายพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวต่อตามนโยบายรัฐบาล และร่างประกาศฯ เรื่องการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่ 4 จังหวัด นำร่องนโนบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ระยะที่ 1 ในส่วนที่เป็นบทบาทของ สปสช. ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการสร้างระบบนิเวศการให้บริการภายใต้นโยบาย โดยมีหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ เช่น คลินิกทันตกรรม คลินิกเวชกรรม ร้านยา ฯลฯ ที่มาเข้าร่วมให้บริการเพิ่มขึ้นถึง 541 แห่ง เกินจากเป้าหมายที่วางไว้ที่ 478 แห่ง ซึ่งช่วยให้ประชาชนมีหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจมากขึ้น รวมถึงการเชื่อมข้อมูลทุกระบบเพื่อการเบิกจ่ายในทุกหน่วยบริการ การใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจสอบก่อนจ่ายให้หน่วยบริการ และการใช้ระบบการแสดงตนยืนยันสิทธิหลังสิ้นสุดบริการ เหล่านี้ทำให้หน่วยบริการใน 4 จังหวัดนำร่องกว่า 70% ได้รับค่าบริการจาก สปสช. ภายใน 3 วัน ตามเป้าหมายที่วางไว้ และป้องกันการซ้ำซ้อนของข้อมูลได้อย่างดี โดยข้อมูลจากวันที่ 7 ม.ค. – 17 ก.พ. 2567 สปสช. จ่ายค่าบริการให้กับหน่วยบริการแล้วถึง 71,556,068 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบกำกับติดตามกระบวนการ เพื่อป้องกันการรับบริการซ้ำซ้อนภายในวันเดียวกัน หรือที่หลายคนเรียกว่า Shopping Around ตลอดจนการร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ในการจัดให้มีกลไกการกำกับการเข้าถึงบริการ และคุณภาพมาตรฐานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
วันนี้เราดำเนินการไปใน 4 จังหวัดนำร่อง ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา ก็ได้เสียงตอบรับเชิงบวกจากทุกภาคส่วนว่านับว่าเป็นความสำคัญในการเป็นก้าวแรกที่ได้เริ่มพลิกโฉมระบบบริการสุขภาพ และหลังจากนี้จะพัฒนาระบบและยกระดับขึ้นต่อไป โดยเป้าหมายของเราก็คือจะขยายไปทั่วประเทศในสิ้นปีนี้
“ส่วนการเข้าสู่ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 1 – 2 ก.พ. ที่ผ่านมาก็ได้มีการจัดกระบวนการ โดยเอา 4 จังหวัดนำร่องมาร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการกับ 8 จังหวัดเป้าหมายระยะที่ 2 คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี พังงา หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา และสระแก้ว และเตรียมแผนปฏิบัติการในการดำเนินการ ผมได้ไปนั่งฟังแผนปฏิบัติการของเขาก็ค่อนข้างมีความมั่นใจว่า 8 จังหวัดมีความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการ โดยจะเริ่มเปิดงานคิกออฟระยะที่ 2 ที่ โคราชประมาณต้นเดือน มี.ค.” นพ.ชลน่าน ระบุ
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในส่วนข้อมูลภาพรวมมีหน่วยบริการนวัตกรรมวิถีใหม่ได้สมัครเข้าร่วมให้บริการใน 8 จังหวัดแล้ว จำนวน 451 แห่ง ประกอบด้วย ร้านยา 281 แห่ง คลินิกการพยาบาล 86 แห่ง ทันตกรรม 50 แห่ง กายภาพบำบัด 12 แห่ง คลินิกเวชกรรม 8 แห่ง คลินิกเทคนิคการแพทย์ 5 แห่ง และคลินิกแพทย์แผนไทย 4 แห่ง เป็นต้น เมื่อแยกข้อมูลรายจังหวัด พบว่าแต่ละจังหวัดมีหน่วยบริการนวัตกรรมวิถีใหม่รวมให้บริการเพิ่มเติม ดังนี้ 1.เพชรบูรณ์ 55 แห่ง 2.นครสวรรค์ 73 แห่ง 3.สิงห์บุรี 13 แห่ง 4.สระแก้ว 35 แห่ง 5.หนองบัวลำภู 35 แห่ง 6.นครราชสีมา 205 แห่ง 7.อำนาจเจริญ 19 แห่ง และ 8.พังงา 16 แห่ง
อย่างไรก็ตามเพื่อเตรียมความพร้อม สปสช. ได้มีการลงพื้นที่ใน 8 จังหวัดที่จะขยายนโยบายเพิ่มเติมแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมและเชิญชวนผู้ประกอบการสถานพยาบาลภาคเอกชนเข้าร่วมบริการ โดยร่วมกับผู้แทนสภาวิชาชีพที่ร่วมให้บริการ อาทิ แพทยสภา สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา เป็นต้น รวมทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งได้ลงพื้นที่แล้ว 6 ใน 8 จังหวัดที่ขยายเพิ่มเติม ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ นครราชสีมา อำนาจเจริญหนองบัวลำภู และสิงห์บุรี สำหรับอีก 2 จังหวัดนั้น ในวันที่ 27 ก.พ. จะลงพื้นที่จังหวัดพังงา และวันที่ 29 ก.พ. ลงพื้นที่จังหวัดสระแก้วต่อไป