ศาลฎีกาออกหมายจับ อดีต สจ.สมพล หลังไม่มาฟังคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา-ขณะทนาย สจ.อาบูอ้างลูกความเสียชีวิตคาเรือนจำ ศาลจึงสั่งเลื่อนอ่านคำพิพากษาไปวันที่ 2 เม.ย.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 22 ก.พ. ศาลฎีกา ถได้มีการเลื่อนอ่านคำพิพากษาในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาในชั้นฎีกาออกไปเป็นวันที่ 2 เม.ย. 2567 เวลา 9.30 น. เนื่องจากเหตุผลว่าทนายของ นายอาบู หรือ สจ.บู ฮะอุรา จำเลยที่ 14 อ้างว่าลูกความเสียชีวิตแล้วในเรือนจำเมื่อปี 66 แต่ทางทนายไม่ได้แจ้งศาลก่อนหน้านี้ ศาลจึงสั่งให้มีการไต่สวนการเสียชีวิต ซึ่งถ้าหากเสียชีวิตจริงก็จะนำคดีออกสู่ระบบต่อไป และในวันเดียวกันนี้เอง (22 ก.พ.) นายสมพล อาดำ อดีต สจ.เขต อ.เมืองสตูล จำเลยที่ 37 ไม่ได้เดินทางมาศาลโดยอ้างว่าไปต่างประเทศ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนี จึ่งสั่งให้มีการออกหมายจับนายสมพล
สำหรับเอกสารข่าวแจกของศาลระบุว่ารายละเอียดของคดีว่า
คดีนี้เป็นคดีดำ คม.27/2558 ที่พนักงานอัยการคดีปราบปรามการค้ามนุษย์ 1 เป็นโจทก์ฟ้องนายบรรณจง จงปองผล หรือ โกจง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา กับพวกรวม 103 คน ในความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ ฯ ร่วมกันเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และคดีนี้ พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 54 ได้เสียชีวิตแล้ว
จากกรณีเมื่อเดือน ม.ค. 2554 - 1 พ.ค. 2558 จำเลยได้ร่วมกันหลอกขู่บังคับชาวบังกลาเทศ และชาวโรฮิงญากว่า 80 คนจากประเทศบังคลาเทศ และประเทศเมียนมา เข้ามายังประเทศไทย เพื่อเตรียมส่งไปทำงานประเทศมาเลเซีย โดยแบ่งหน้าที่กันทำ ทั้งเป็นนายหน้าชักชวนผู้เสียหายว่าจะส่งไปทำงาน ซึ่งมีทั้งผู้เสียหายที่หลงเชื่อและที่ไม่สมัครใจ โดยมีการใช้กำลังหรืออาวุธปืนประทุษร้ายและข่มขู่ผู้เสียหายด้วย และเมื่อรวบรวมผู้เสียหายได้ 200-500 คน ก็จะส่งขึ้นเรือลำใหญ่ที่จอดลอยลำอยู่กลางทะเล ที่มีผู้ควบคุมโดยใช้อาวุธปืนไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนี จากนั้นจะมีเรือเล็กรับผู้เสียหายขึ้นฝั่งไปพักในเขต จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา โดยจะขายผู้เสียหายคิดเป็นเงินไทยคนละ 60,000-70,000 บาท
ศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาคดีเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2560 ซึ่งใช้เวลาอ่านคำพิพากษา 540 หน้า นานร่วม 12 ชั่วโมง โดยตัดสินว่าให้จำคุก จำเลย 61 คน ตั้งแต่ 4-79 ปี และยกฟ้อง 40 คน
ศาลอุทธรณ์ สั่งแก้โทษ จำคุกจำเลยทั้งสิ้น 55 คน จากเดิมที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกไว้ 61คนส่วนจำเลยที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง 40 ราย เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แก้ในส่วนของจำเลยต่าง ๆ แล้ว คงเหลือจำเลยที่ศาลยกฟ้องเพียง 26 รายเท่านั้น
วันนี้ (22 ก.พ.) การอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้ใช้ระบบถ่ายทอดสดวิดีโอทางไกลผ่านแอพพลิเคชั่น Google Meet จากศาลฎีกา มายังศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลต้นทาง ให้จำเลยที่ถูกคุมขัง จำเลยที่ได้รับการประกันตัว และจำเลยที่ศาลพิพากษายกฟ้อง มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
ขณะเดียวกันนี้มีญาติของจำเลยเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาศาลฎีกาด้วยโดยศาลอาญาใช้ห้องพิจารณาคดีที่ 704 ซึ่งเป็นห้องที่ใหญ่ที่สุด มีการจัดระเบียบให้ญาติเข้าไปร่วมฟังได้ 75 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อีก 16 คน และตำรวจศาล พนักงานรักษาความปลอดภัย ไปดูแลความเรียบร้อย