นักสิทธิฯเมียนมาเตือนแรงงานผิดกฎหมายจ่อทะลักไทยหลังรัฐบาลเมียนมาออกกฎหมายเกณฑ์ทหาร คาดมีเหตุละเมิดสิทธิแรงงานตามมาอีก ขณะรบ.เผด็จการประกาศ เดือน เม.ย.คาดเกณฑ์ทหารได้ 5 พันคน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การเกณฑ์ทหารในประเทศเมียนมาที่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยว่า นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานเตือนว่าการที่รัฐบาลทหารเมียนมาเริ่มใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารแห่งชาติเมื่อเร็วๆ นี้ อาจทําให้เกิดการอพยพคนหนุ่มสาวจํานวนมากมายังประเทศไทย
โดยคนหนุ่มสาวจำนวนมากเตรียมที่จะออกจากเมียนมาหลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมากำหนดให้คนหนุ่มสาวของประเทศต้องรับใช้ราชการทหาร ส่งผลทำให้หลายคนอยากย้ายไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้านเช่นประเทศไทย
นายอู ทู ชิน ผู้อํานวยการบริหารมูลนิธิเพื่อการศึกษาและการพัฒนา ซึ่งตั้งอยู่ที่ภาคใต้ของประเทศไทยกล่าวว่าตัวเขาได้ยินว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี กำลังเตรียมที่จะออกจากเมียนมา ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ผลที่ตามมาก็คือว่าจะมีแรงงานผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย และจะมีการละเมิดสิทธิแรงงานมากกขึ้นด้วยเช่นกัน
นายอูกล่าวต่อไปว่าปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์องเมียนมากำลังเลวร้ายลงเนื่องจากการอพยบในครั้งนี้ และมันจะเป็นการยากขึ้นไปอีกในการหาแรงงานเพื่อทำงานขั้นพื้นฐานในเมียนมา
อนึ่งกฎหมายการเกณฑ์ทหารกําหนดว่าผู้ชายทุกคนที่มีอายุ 18 ถึง 35 ปีและผู้หญิงอายุ 18 ถึง 27 ปีต้องรับใช้ในกองทำ ส่วนช่วงอายุสําหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ เช่น แพทย์และวิศวกร จะขยายเป็น 18-45 สําหรับผู้ชายและ 18-35 สําหรับผู้หญิง
เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมาได้กล่าวว่าจะมีการจัดตั้งหน่วยงานระดับชาติซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 18 คน เพื่อมาทำหน้าที่กำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหาร หน่วยงานกลางที่ว่ามานี้จะมีการจัดตั้งสาขาย่อยเพื่อดำเนินการเกณฑ์ทหารทั้งในระดับภูมิภาค ระดับเขตการปกครอง ระดับอำเภอและในระดับเมือง ซึ่งการหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารมีโทษจำคุก 5 ปี
รัฐบาลทหารกล่าวว่าจะสามารถเกณฑ์ทหารซึ่งส่วนมากเป็นผู้ชายได้อย่างน้อยจำนวน 5 พันคนในช่วงเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้มีข่าวลือว่ารัฐบาลทหารกำลังตามจับผู้คนวัยหนุ่มสาวจากในบ้านของตัวเอง หรือในระหว่างที่พวกเขากำลังเดินทาง และรัฐบาลทหารยังได้ออกมาตรการจำกัดการเคลื่อนไหวด้วยการเดินทางทางอากาศในประเทศด้วยเช่นกัน
ทางด้านของนายนายอู โม เกียว ประธานคณะกรรมการปฏิบัติการร่วมเพื่อกิจการพม่า ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ที่ อ.แม่สอด ประเทศไทย กล่าวว่าตัวเขาไม่ต้องการที่จะทั้งกระตุ้นให้ประชาชนเมียนมาอยู่แต่ในบ้าน หรือว่ากระตุ้นให้ออกนอกประเทศ เพราะนี่เป็นชีวิตของพวกเขา เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องเลือกเอง แต่เขาอยากจะเรียกร้องไปยังชาวเมียนมาให้ตัดสินใจทำในสิ่งที่ต้องการโดยเร็ว
มีรายงานว่าหลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายเมื่อวันที่ 10 ก.พ. มีหลายคนได้สอบถามถึงค่าใช้จ่ายในการย้ายถิ่นฐานไปยังต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในรูปแบบการหางานหรือว่าการหาโอกาสทางการศึกษา โดยในต่างประเทศมีชาวเมียนมาที่ย้ายประเทศได้สร้างกลุ่มเฟซบุ๊กเพื่อตอบข้อซักถามเหล่านี้
“ผมรู้สึกท้อแท้เมื่อได้ยินเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย เราทนทุกข์กับความอยุติธรรม และเราไม่สามารถทําอะไรได้เลย ผมไม่ต้องการที่จะรับใช้ระบอบ ผมคิดวิธีที่จะหลีกเลี่ยง ระบอบเผด็จการจะทําสิ่งต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนเดินทางออกนอกประเทศอย่างแน่นอน ถ้าผมสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ผมจะพยายามออกไปอย่างแน่นอน" ชายวัย 29 ปีจากเขตการปกครองยานคินในเมืองย่างกุ้งกล่าว
มีการประมาณว่าในประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาที่มีใบอนุญาตและไม่มีใบอนุญาตมากถึง 5 ล้านคน แรงงานข้ามชาติที่ได้รับใบอนุญาตประมาณ 400,000 คนได้เดินทางออกจากเมียนมาในช่วงสามปีนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนก.พ. 2564 ตามข้อมูลของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานในประเทศไทย
เรียบเรียงจาก:https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmar-youth-exodus-feared-in-wake-of-juntas-conscription-law.html